กทม.ตั้งเป้าซ้อมเผชิญภัย 340 ชุมชน ลดความเสี่ยงทั่วกรุงเทพฯ

426

(7 พ.ค.67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานด้านมาตรการลดความเสี่ยง การเตรียมความพร้อม และฟื้นฟูเยียวยา ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องสุทัศน์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

รองผู้ว่ากทม. กล่าวว่า การประชุมวันนี้ต้องการติดตามความก้าวหน้าของงาน ในแง่ของมาตรการลดความเสี่ยงยังไม่สามารถจับต้องได้และยังไม่เป็นรูปธรรม และสำหรับการจัดทำงบประมาณปี 2568 นั้น ต้องเกี่ยวข้องไปถึงเรื่องที่ไม่ใช่สร้างหรือซื้อ เช่น การวางงบประมาณในเรื่องการอบรมการเผชิญเหตุเพื่อลดความเสี่ยงในภัยต่าง ๆ อีกทั้งต้องติดตามความก้าวหน้าในการจัดทำแผนเผชิญเหตุ แผนปฏิบัติการเฉพาะภัย และแผนระดับเขต รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการวางมาตรการ วิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ต่อประชาชนด้วย เช่น ไฟไหม้ ไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น

จากนั้น ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้า การดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ ดังนี้ มาตรการลดความเสี่ยง ชุมชนชานเมือง 351 ชุมชน ได้รับการประเมินและจัดระดับความเสี่ยงสาธารณภัย และมีการแนะนำ ให้ความรู้เรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเบื้องต้นครบทุกชุมชนตามเป้าหมายที่กำหนด ดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยง 256 ชุมชน ที่รถดับเพลิงเข้าไม่ถึง ซึ่งจากประเมินลักษณะทางกายภาพ พบว่ามีลักษณะเป็นชุมชนที่มีถนนทางออกกว้างไม่ถึง 3 เมตร จำนวน 117 ชุมชน มีลักษณะเป็นชุมชนที่มีทางเข้าออกเกินกว่า 3 เมตร จำนวน 139 ชุมชน เป็นชุมชนที่มีทางเข้า – ออก ทางเรือ จำนวน 7 ชุมชน มีการเตรียมความพร้อมโดยการขอจัดสรรงบประมาณ ปี 2568 ในการจัดหาเครื่องสูบน้ำดับเพลิงแรงดันสูง ชนิดสะพายหลังพร้อมอุปกรณ์ จัดหาเครื่องสูบน้ำดับเพลิง ชนิดทุ่นลอย ฝึกอบรมดับเพลิง และการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ ให้กับประชาชนและอาสาสมัครในชุมชน 370 ชุมชน (รวม 256 ชุมชนรถดับเพลิงเข้าไม่ถึง) ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนการแบ่งเกณฑ์ในการระบุและการคัดเลือกพื้นที่เสี่ยงใหม่อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้มีการตรวจสอบข้อมูลสถานประกอบการธุรกิจโรงแรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวน 1,282 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ 44 เขต คัดเลือกโรงแรมเป้าหมาย จำนวน 159 แห่ง จัดทำแบบตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยในโรงแรม จำนวน 2 แบบ ได้แก่ แบบตรวจสอบระบบป้องกันฯ สำหรับอาคารขนาดใหญ่และแบบตรวจสอบระบบป้องกันฯ สำหรับอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรือตั้งอยู่ในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการ จำนวน 100 แห่ง แจ้งผลการตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารโรงแรมให้กลุ่มเป้าหมาย หากตรวจสอบพบข้อบกพร่อง ประสานสถานีดับเพลิงและกู้ภัยในพื้นที่ร่วมตรวจสอบและให้คำแนะนำ ปัจจุบันดำเนินการแล้วจำนวน 67 แห่ง ได้รับตอบการกลับจากโรงแรมแล้ว จำนวน 30 แห่ง

สำหรับมาตรการการเตรียมความพร้อม มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุและฝึกซ้อมเผชิญเหตุชุมชน ประจำปี 2567 มีเป้าหมาย 340 ชุมชน ปัจจุบันฝึกซ้อมแล้ว 33 ชุมชน การฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2567 และการอบรมการบัญชาการเหตุการณ์ โดยจะใช้อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง เป็นสถานที่สำหรับการฝึกซ้อม

ในส่วนมาตรการการฟื้นฟูเยียวยา มีการเชื่อมฐานข้อมูลด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเข้าระบบแผนที่เสี่ยงภัย จัดทำคลังสิ่งของสำหรับใช้ในศูนย์พักพิง จำนวน 24 รายการ ช่วยเหลือปฏิบัติการช่วยเหลือถุงยังชีพเบื้องต้นภายใน 12 ชั่วโมง ช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประสบภัยภายใน 5 วันทำการ โดยมีการควบคุมบัญชีผ่านระบบ GIS เรียบร้อยแล้ว

ในการนี้ นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักพัฒนาสังคม สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักเทศกิจ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย ผู้แทนกลุ่มปฏิบัติงานของเขตทั้ง 6 กลุ่มเขต ร่วมประชุม

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ชัชชาติ #ข่าวอาชญากรรมสังคม