องค์ประกอบหนุนนั่ง”ผบ.ตร.”อำนาจการเมืองยืนหนึ่ง กฎหมายตำรวจแค่ตัวช่วย                         

13016


               นับแต่ก่อตั้งกรมตำรวจแล้วกลายร่างมาเป็นสำนักงานตำรวจชาติ ไม่เคยมียุคไหนที่องค์กรตำรวจเกิดวิฤตศรัทธาเท่ายุคนี้ บรรดาอดีตตำรวจและตำรวจในปัจจุบันรู้สึกอับอายที่เห็นระดับบริหารเปิดศึกปะดาบกันแบบไม่ใส่ใจว่าภาพรวมขององค์กรจะยับเยินแค่ไหน


             มีการเคลื่อนไหวแบบยอมหักไม่ยอมงอเพียงเพื่อที่จะให้ตัวเองมีที่ยืน บางคนถึงกับหลงเงาตัวเองว่ายังมีสิทธิ์แคนดิเดต ตำแหน่งผู้บัญชการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ซึ่งเหตุการณ์ความขัดแย้งนี่จะลงเอยคงต้องติดตาม แต่อยากโฟกัสถึงตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่าใครคือผู้กำหนด
          จากประสบการณ์”ประดู่แดง”ที่คลุกคลีงานข่าวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมานานกว่า 3 ทศวรรษ ผ่านเหตุการณ์ช่วงชิงเบอร์ 1 สำนักปทุมวัน มาตั้งแต่ยุคที่เรียกว่าอธิบดีกรมตำรวจ(อ.ตร.)มาสู่ยุคที่เรียกว่า ผบ.ตร.
       ในอดีตการก้าวสู่ตำแหน่ง อ.ตร.ส่วนใหญ่จะยึดกฎกติกาค่อนข้างเคร่งครัดเดินตามอาวุโสเป็นหลัก รอง อ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 จะได้รับการแต่งตั้งเป็น อ.ตร. เว้นแต่ช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองพลิกผัน อาวุโส 1 อันดับ 1 ก็วืดได้เช่นกัน


        แม้อดนั่งเจ้าสำนักปทุมวัน จะไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นคลื่นใต้น้ำเพื่อเขย่าบัลลังก์กันแต่อย่างใด เพราะต่างมีความเป็นสุภาพบุรุษลูกชายแบบเต็มตัว บวกกับในอดีตการแสวงผลประโยชน์ในทางมิชอบของบิ๊กตำรวจเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะต่างรักในศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจหรือถ้าจะขัดแย้งเพื่อแย่งชิงตำแหน่งกัน พอพ่ายจะยอมรับในกฎกติกา ไม่ออกมาเคลื่อนไหวโวยวายนอกรอบ

     ขณะที่ อ.ตร.เองใช่ว่าจะไม่ระแวง รอง อ.ตร.ที่มองว่าเป็นคู่แข่ง แต่จะใช้ชั้นเชิงการบริหารให้คู่แคนดิเดตไม่รู้สึกว่าด้อยค่าหรือไร้ราคาแต่อย่างใด ประชาชนทั่วไปจึงมักจะไม่ค่อยได้เห็นความขัดแย้งแบบฉาวโฉ่แต่อย่างใด


    ครั้นกลายร่างเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยุคแรกๆกับชิงบัลลังก์อำนาจไม่ค่อยจะปรากฏความขัดแย้งให้เห็นมากหนัก เพราะ รอง ผบ.ตร.ส่วนใหญ่ก้าวหน้ามาด้วยผลงาน แต่ละนายกว่าจะก้าวสู่แต่ละตำแหน่งต่างสั่งสมประสบการณ์แบบเต็มร้อยมาแทบทั้งสิ้น


   ปรากฏการณ์ที่บิ๊กตำรวจไปเกี่ยวข้องกับส่วยแบบโจ่งแจ้ง มีให้เห็นน้อยมาก จะมีก็เป็นเพียงแค่เสียงนินทาเท่านั้น ไม่มีหลักฐานปรากฏโจ่งครึ่มแบบปัจจุบัน

สำหรับการแต่งตั้ง ผบ.ตร.เพิ่งมาเสียศูนย์ในยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ครองอำนาจ แทนที่จะเลือกรอง ผบ.ตร.ที่อาวุโสสูงสุดกลับไปเลือกรอง ผบ.ตร.ที่อ่อนอาวุโสผงาดนั่งตำแหน่งแทนและครองอำนาจยาวนานแต่ไม่ได้โชว์บทบาทเชิงบริหารให้ตำรวจส่วนใหญ่รู้สึกประทับใจ รู้สึกถึงความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายแต่อย่างใด บางคนถึงขั้นมองว่าเป็นได้แค่เจวิด


   ในห้วงที่ คสช.ครองอำนาจการตั้งผบ.ตร.จะเป็นไปตามที่ บิ๊ก คสช.ต้องการมากกว่ายึดหลักการตามบัญชีอาวุโส จะยึดหลักอาวุโสคงจะมีแค่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ เท่านั้น


   ก่อนที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เกษียณอายุ กฎหมายตำรวจฉบับใหม่ บังคับใช้พอดี การตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ต้องยึดตามกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะหลักอาวุโสที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน


  แต่เมื่อถึงเวลาเลือก รอง ผบ.ตร.เป็นผบ.ตร. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)เลือกเสนอชื่อรอง ผบ.ตร.อาวุโสลำดับสุดท้ายให้ก.ตร.ลงมติเห็นชอบ ก.ตร.เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ยืนตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ


    คงไม่ต้องวิเคราะห์หรือฟันธงอะไรมากมายว่า ผบ.ตร.คนต่อไปจะเป็นใคร ไม่ต้องนำข้อกฎหมายมาจับว่าใครเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะปัจจัยสำคัญอยู่ที่อำนาจรัฐจะเลือกใคร ส่วนตัวบทกฎหมายเป็นเพียงตัวช่วยไว้อธิบายให้ดูดีเท่านั้น


    ดังนั้นบิ๊กตำรวจคนไหนที่ยังหลงเงาว่ามีสิทธิ์เป็น ผบ.ตร.ได้อยู่ ควรเลิกคิดได้แล้ว เพราะการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ไม่อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย  แต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้มีอำนาจว่าจะเลือกใครที่สามารถสนองตอบความต้องการให้กับตัวเองและพวกพ้องได้มากกว่ากัน
    หากยึดหลักการและตัวบทกฎหมายจริงวิกฤตศรัทธาที่มีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน !!!