“ก้าวไกล” จี้ พม.แก้ปัญหา “บ้านมั่นคง” ด่วน ก่อนคนไร้บ้านจะเกลื่อนเมือง

294

“เอกราช” ตั้งกระทู้ถาม พม.กรณี “บ้านมั่นคง” คลองเปรมประชากร สลดใจกลุ่มเปราะบางถูกไล่รื้อ แต่มีบ้านกลางรองรับแค่ชุมชนละ 1-3 หลัง แถมคิดดอกเบี้ยสุดโหด 6% เท่ากับกู้ธนาคารพาณิชย์ซื้อบ้าน

วันที่ 14 มีนาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เอกราช อุดมอำนวย สส.กรุงเทพฯ เขต 10 พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ทั่วไปถาม วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถึงกรณีการบริหารจัดการโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่คลองเปรมประชากร เขตดอนเมือง ว่า ในพื้นที่คลองเปรมประชากรขณะนี้มีบ้านของผู้สูงอายุคู่หนึ่ง ไม่มีบุตรหลาน คนหนึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง อีกคนมีอายุมากและมีอาการป่วยบ่อยครั้ง บ้านกำลังจะถูกไล่รื้อในนามโครงการบ้านมั่นคง เพราะรายได้สองคนเมื่อรวมกันบวกกับเบี้ยผู้สูงอายุยังไม่ถึง 3,000 บาทตามเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ

ซึ่งโครงการระบุว่าจะมี “บ้านกลาง” ให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง แต่จากการสอบถามกับสหกรณ์โครงการบ้านมั่นคงต่าง ๆ ก็พบว่าบางโครงการมีบ้านกลางสำหรับผู้เปราะบางเพียง 1-3 หลังเท่านั้น อีกทั้งจำนวนของกลุ่มเปราะบางก็ไม่เคยได้รับการสำรวจอย่างถี่ถ้วน บางรายต้องกลายเป็นคนเร่ร่อนไปนอนใต้สะพาน หลายรายกำลังถูกไล่รื้อให้ออกจากพื้นที่ ตนจึงถาม รมว.พม. ว่าจะแก้ปัญหาบ้านกลางที่มีไม่เพียงพออย่างไร และจะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ รวมถึงผู้ที่กำลังถูกไล่รื้อจากโครงการนี้อย่างไร

นายวราวุธตอบคำถามว่า โครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยแต่ละหลังจะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐครัวเรือนละประมาณ 147,000 บาท แบ่งเป็นงบประมาณสำหรับการก่อสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลางของชุมชนประมาณ 50,000 บาท และอีก 97,000 บาทเป็นงบประมาณสำหรับอุดหนุนและช่วยเหลือค่าก่อสร้างของสมาชิกแต่ละคน

การออกแบบบ้านมั่นคงโดยทั่วไปจะเป็นบ้านแบบสองชั้น ส่วน “บ้านกลาง” สำหรับกลุ่มผู้เปราะบางนั้นจะเป็นบ้านชั้นเดียว อย่างเช่นในชุมชนเปรมประชาสมบูรณ์ ริมคลองเปรมประชากร ที่มีจำนวนครัวเรือนอยู่ทั้งหมด 124 หลัง มีบ้านกลางอยู่หลังเดียว ซึ่งค่าใช้จ่ายของบ้านกลางรวมถึงค่าก่อสร้างจะไม่ใช่การผลักภาระไปให้ชุมชนทั้งหมด แต่เงินส่วนหนึ่งจะมาจากภาครัฐสนับสนุนเช่นกัน

วราวุธกล่าวต่อไปว่า ในกรณีบ้านกลางที่ พอช.รับผิดชอบนั้น ชุมชนจะทำข้อตกลงร่วมกันไว้ว่าถ้ามีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและไม่สามารถหารายได้ได้ สมาชิกในสหกรณ์ทุกคนจะร่วมกันแบกรับไว้ ไม่ว่าจะเป็นค่าก่อสร้าง ค่าน้ำ-ค่าไฟ ฯลฯ การกำหนดบุคคลที่มีสิทธิใช้บ้านกลางนั้นชุมชนจะต้องมีความเห็นชอบร่วมกันด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ พม. นอกจาก พอช.แล้วยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมกิจการผู้สูงอายุ หรือแม้แต่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

หากว่ายังมีเรื่องเดือดร้อนจริง ๆ พม.ยังมีศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน ที่จะสามารถส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยในกรณีของครอบครัวผู้สูงอายุที่คลองเปรมประชากร พม.อาจจะประเมินว่ามีศักยภาพในการประกอบอาชีพอะไรได้หรือไม่ ถ้ายังมีก็สามารถส่งเสริมศักยภาพ และหาอาชีพต่าง ๆ ให้ได้

นายเอกราช กล่าวว่า ที่ตั้งกระทู้ถามเพราะกลไก รมว.พม.กล่าวมานั้นบิดเบี้ยว และไม่สะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จึงอยากชวนรัฐมนตรีลงไปดูพื้นที่ด้วยกันและ อยากให้ท่านมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

นายเอกราชตั้งคำถามที่ 2 ว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการกำลังประสบปัญหาอัตราดอกเบี้ยของ พอช. ซึ่งเป็นภาระหนี้สินถึงร้อยละ 4 ของค่าบ้านทั้งหมด กับดอกเบี้ยของสหกรณ์อีกร้อยละ 2 เมื่อรวมแล้วเท่ากับร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับการกู้จากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปอัตราดอกเบี้ยบ้านก็จะอยู่ประมาณนี้ คำถามคือ นี่เป็นโครงการของภาครัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยจริงหรือ จากเอกสารของ พอช. ราคาบ้านจะอยู่ที่ประมาณ 460,000 บาท เมื่อคำนวณดอกเบี้ยร้อยละ 6 เป็นระยะเวลา 30 ปี ราคาบ้านรวมแล้วจะอยู่ที่หลังละประมาณ 7 แสนบาท โดยในส่วนดอกเบี้ยของ พอช. ฐมนตรีจะสามารถปรับลดได้หรือไม่ หากไม่ได้จะมีแนวทางที่จะบรรเทาภาระต่าง ๆ ของประชาชนอย่างไร

นายวราวุธ กล่าวว่า ในเรื่องดอกเบี้ยที่ พอช.ระบุว่าต้องนำเงินไปบริหารองค์กร ก็คงต้องเป็นเช่นนั้น เนื่องจาก พอช.ไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล เพราะเป็นองค์การมหาชน แม้ พอช.จะมีเงินสะสมอยู่ แต่เงินเหล่านั้นก็เป็นกองทุนที่จะนำไปให้ประชาชนกู้ยืม โดยหากผลประกอบการของสหกรณ์หรือของ พอช.สามารถดำเนินการไปได้ก็จะมีการคืนดอกเบี้ยให้ผู้ร่วมโครงการประมาณเกือบร้อยละ 1 จากร้อยละ 4 ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนี้กำหนดมาตั้งแต่ปี 2563 และยังไม่มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งถ้าหากว่าลดได้เองตนก็อยากจะขอลด แต่ด้วยสถานการณ์ในขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่ พอช.ต้องใช้บริหารจัดการก่อน

วราวุธกล่าวต่อไปว่า พื้นที่ดังกล่าวจะต้องนำประชาชนที่อยู่ติดริมคลองขึ้นมาอยู่บนบก เพื่อที่จะได้ไม่จะรุกล้ำพื้นที่คลอง เมื่อนำมาอยู่บนฝั่งพื้นที่ก็ไม่พอ ขณะนี้ทาง พอช.เองก็กำลังเร่งหาพื้นที่ให้ประชาชนสามารถขยับขยายไปอยู่ด้ ไม่ว่าจะเป็นที่ราชพัสดุ หรือของหน่วยงานอื่น ๆ

ส่วนกรณีประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงได้ วราวุธกล่าวว่าตนขอรับเป็นการบ้านพราะ พม.ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงหน่วยงานเดียว จึงจะไปหาทางประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการหาสถานที่ แม้กระทรวง พม.จะมีพื้นที่อยู่ระดับหนึ่ง แต่การจะหางบประมาณมาเพิ่มเติมนั้นก็คงจะต้องขอการสนับสนุนจากทางสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ตนจะไปลงพื้นที่คลองเปรมประชากรตลอดเส้นทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจว่ามีข้อจำกัดอย่างไร หรือต้องพัฒนาเพิ่มเติมอย่างไร

เอกราชกล่าวทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ของคนจนเมืองในขณะนี้ หากไร้ที่อยู่อาศัยแล้วย่อมไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก ต้องไปนอนใต้สะพานลอยอย่างเดียว นี่คือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะในเขตดอนเมืองเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ จึงขอฝากให้รัฐมนตรีให้ความใส่ใจและติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิดด้วย

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #เอกราชอุดมอำนวย #พรรคก้าวไกล #บ้านมั่นคง #วราวุธศิลปอาชา #กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์