”รมว.ธรรมนัส“เปิดปฏิบัติการฝนหลวงปี 67

537

ปฏิบัติการฝนหลวง ปี 67 ”ธรรมนัส“จัดตั้งหน่วยฝนหลวง 16 หน่วย ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ เติมน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ รวมทั้งสถานการณ์ PM 2.5

       ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ กล่าวหลังเป็นประธานเปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 67 โดยมี นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯนายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดเกษตรฯ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และผู้บริหารส่วนราชการในพื้นที่ เข้าร่วม ณ โรงเก็บเครื่องบิน 7 สนามบินนครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ว่า จากสถานการณ์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยต่อภาคการเกษตรในปัจจุบัน รวมทั้งปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปัญหาการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 67 จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 10 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติดังกล่าว

       สำหรับในปี 67กรมฝนหลวงฯ มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยกรมฝนหลวงฯ มีแผนในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 16 หน่วย โดยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค 7 ศูนย์ และได้ปรับแผนในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในเดือนมี.ค.และเม.ย.67 จำนวน 7 หน่วย โดยใช้อากาศยานรวมทั้งสิ้น 30 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร24 ลำ อากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ 6 ลำ ในการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้

  1. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่
  2. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง หน่วยฯจ.แพร่
  3. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง หน่วยฯจ.กาญจนบุรี
  4. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน หน่วยฯจ.อุดรธานี
  5. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หน่วยฯจ.นครราชสีมา
  6. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก หน่วยฯจ.จันทบุรี
  7. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ หน่วยฯจ.ประจวบคีรีขันธ์

       นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวง 4 แห่ง ที่จ.พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น และระยอง โดยเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.66 กรมฝนหลวงฯ ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจ.ระยอง และจ.ประจวบคีรีขันธ์ ช่วยเหลือพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้เพื่อบรรเทาป้องกันการเกิดไฟป่า ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำ ในส่วนพื้นที่ภาคเหนือ ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.67 ช่วยเหลือบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภายใต้การบูรณาการร่วมกันระหว่างจ.เชียงใหม่ และยังคงติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปวางแผนในการปฏิบัติการฝนหลวงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แผนการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของสภาพภูมิอากาศ และพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำของประเทศไทย เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงฯ และขอรับบริการฝนหลวง ได้ตามช่องทางดังนี้ หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 7 ศูนย์ทั่วประเทศ

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ฝนหลวง #ธรรมนัส