วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2567) พ.ต.อ.อุเทพ นุ้ยพิน รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ถึงประเด็นเรื่อง กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ผู้เสพ หรือผู้ครอบครองยาเสพติดไม่เกิน 5 เม็ด ไม่มีโทษอีกต่อไปนั้น เป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
รอง โฆษก ตร. กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ได้ออกกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ลงวันที่ 31 มกราคม 2567 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 นั้น กฎกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศออกมาตามความในมาตรา 24 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และ มาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นข้อสันนิษฐานว่า การครอบครองยาเสพติดในปริมาณเล็กน้อยตามที่กำหนด ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ถือว่าผู้นั้นเป็นป่วย ต้องได้รับการการบำบัดรักษาเพื่อให้หายจากการติดยาเสพติดและกลับเข้าสู่สังคมต่อไป
การเสพยาเสพติดยังคงมีโทษอยู่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104 , 162 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผู้เสพสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด และดำเนินการเข้ารับการบำบัดจนครบถ้วน ก็จะไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 113 ทั้งนี้ บทลงโทษทางกฎหมายยังคงมีอยู่ ซึ่งกฎหมายนี้มีเจตนารมย์ที่จะช่วยเหลือให้เข้ารับบำบัดโดยไม่เอาผิดทางอาญา หรือการลดการเป็นอาชญากรรมของผู้เสพ (decriminalization) “มองผู้เสพ เป็นผู้ป่วย” ใช้กระบวนการทางสาธารณสุขและสุขภาพในการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติด
ส่วนการครอบครองยาเสพติดในปริมาณเล็กน้อยไว้พื่อเสพ เช่น ยาบ้า ไม่เกิน 5 เม็ด หรือยาไอซ์ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือยาเค มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ยังคงเป็นความผิดฐาน “ครอบครองเพื่อเสพ” ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 107 , 164 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผู้ครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพ สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา และดำเนินการเข้ารับการบำบัดจนครบถ้วน ก็จะไม่มีความผิด ตาม ม.113 เช่นกัน โดยการครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพ แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 การครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพตามพฤติกรรมอันแท้จริง เช่น มียาบ้า 10 เม็ด แม้จะมีปริมาณเกินกว่าที่กฏกระทรวงกำหนด แต่หากข้อเท็จจริง พยานหลักฐานต่างๆ ยืนยันได้ว่า ยาบ้าจำนวน 10 เม็ดนั้น มีไว้เพื่อเสพจริง ไม่มีพฤติการณ์หรือประวัติในการจำหน่ายยาเสพติด มีผลตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะ เช่นนี้ มีความผิดฐาน ครอบครองเพื่อเสพ
กรณีที่ 2 การครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพปริมาณเล้กน้อยไม่เกินที่กำหนด เช่น ยาบ้า ไม่เกิน 5 เม็ด หรือ ยาไอซ์ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือยาเค มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 หากไม่มีพฤติการณ์หรือประวัติในการจำหน่ายยาเสพติด เช่นนี้ มีความผิดฐาน ครอบครองเพื่อเสพ
ทั้งนี้ พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน รองโฆษก ตร. ขอเรียนประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชนได้รับทราบว่า การเสพยาเสพติดทุกชนิดประเภท การครอบครองยาเสพติดทุกชนิดประเภท ไม่ว่าจำนวนเท่าใดยังคงเป็นความผิดตามกฎหมาย ถูกจับกุม ดำเนินคดีได้