การเดินหน้าผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมการขนส่ง จากฝั่งอันดามันที่ระนอง ถึงฝั่งอ่าวไทย ชุมพร ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แบบเต็มสูบ ได้กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ซีกการเมืองที่ไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนคือ สส.ก้าวไกล ยกทีมลาออกจากคณะกรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์ โดยอ้างว่าข้อมูลการศึกษาไม่ชัดเจน บางส่วนตัดแปะและรวบรัดที่จะลงมติ ขณะที่ภาคประชาชนในพื้นที่เกรงว่าต้องแลกกับต้นทุนเศรษฐกิจฐานราก ต้นทุนชุมชน ทั้งพื้นที่ทำกินแหล่งผลิตอาหาร สูญเสียพื้นที่การเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวเป็นต้น
ซีกรัฐบาลเชื่อว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีหลากหลายอาทิ ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนระบบโลจิสติกส์การขนส่งทางเรือของประเทศไทยเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค และเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และช่วยลดปัญหาทางสังคมใน ระนอง ชุมพร และจังหวัดอื่นๆในภาคใต้ เป็นต้น
ซึ่ง นายเศรษฐา ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะทุกครั้งที่เดินทางไปประชุมในต่างประเทศ จะนำเสนอโครงการนี้ให้ทั้งภาครัฐและเอกชนในต่างประเทศได้รับรู้พร้อมเชิญชวนมาลงทุน รวมถึงการจัดประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร วันที่ 23 มกราคม ที่ จ.ระนอง เดินสายฟังความเห็นต่างจากกลุ่มคัดค้านและลงดูพื้นที่ที่จะก่อสร้างอีกต่างหาก ถ้ารัฐบาลสามารถฟันฝ่าอุปสรรค์ต่างๆที่ทั้งขัดขวางต่อต้าน จนสามารถเดินตอกเสาเข็มโครงการแลนด์บริดจ์ได้สำเร็จ ถือเป็นผลงานชิ้นใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้เลยทีเดียว
หากย้อนดูถึงโครงการใหญ่ๆในอดีตที่รัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัยผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของปักษ์ใต้ให้เฟื่องฟู ล้วนแต่ล้มครืน บางโครงการเดินก่อสร้างแค่โครงสร้างพื้นฐานถูกทหารทลายห้างเสียแล้ว
อย่างโครงการขุดคอคอดกระ เพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าผ่านโดยไม่ต้องไปผ่านช่องแคบมะละกา มีความพยายามศึกษาโครงการอย่างจริงจัง สุดท้ายก็พ่ายเก็บผับใส่ลิ้นชัก ท่ามกลางข่าวลือสารพัดว่าประเทศที่สูญเสียผลประโยชน์ เคลื่อนไหวเป็นขบวนการจ้างสื่อไทยบางกลุ่มปั่นกระแสว่าประเทศไทยจะถูกแบ่งแยกดินแดน ล็อบบี้บรรดาบิ๊กมีสีบางกลุ่ม พวกอนุรักษ์นิยมบางคน รวมถึงนักการเมืองทั้งในพื้นที่ภาคใต้และซีกรัฐบาลในขณะนั้น ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนที่สูงลิบหรือโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดเป็นแผนพัฒนาภาคใต้ชุดใหญ่ เชื่อมอันดามัน ที่ กระบี่กับอ่าวไทย ที่ สุราษฎร์ธานี ยุคที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีการสร้างถนนสี่ช่องจราจรเรียบร้อยแล้ว และระยะห่างระหว่างถนนขาไปกับขากลับกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อรองรับการสร้างทางรถไฟและวางท่อน้ำมัน
แต่พับไปหลังรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ถูกเผด็จการทหารโค่นอำนาจ มาพร้อมกับกระแสข่าวว่าต่างชาติที่ต้องเสียผลประโยชน์หากโครงการนี้บังเกิดพอใจกับผลงานเผด็จการทหารอย่างยิ่ง แม้โครงการใหญ่ๆทั้งคอคอดกระและเซาเทิร์นซีบอร์ด ล้มไปรัฐบาลมีความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคใต้หลายโครงการ แต่ล้มลุกคลุกคลานไร้ความสำเร็จเพราะมีพวกต่อต้านเยอะมาก อย่างเช่นโครงการท่าเรือปากบารา สตูลเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึก สงขลา ไม่บรรลุเป้าหมาย
ดังนั้นหากรัฐบาลมุ่งหวังให้โครงการแลนด์บริดจ์ บรรลุเป้าหมาย นอกจากจะรับฟังความเห็นต่างแล้ว ต้องศึกษาโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในภาคใต้ให้ท่องแท้ด้วย เพราะกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มเอ็นจีโอ ล้วนชำชองในการเคลื่อนไหว วางเกมต่อสู้ค่อนข้างแยบยล ยิ่งบางกลุ่มมีทุนนอกประเทศสนับสนุนด้วยแล้ว จะเคลื่อนไหวแบบถวายหัว ปลุกชาวบ้านให้เป็นเหยื่อสังเวยอำนาจรัฐเพื่อสร้างกระแสให้เกิดการต่อต้านที่รุนแรงในพื้นที่ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณี
ที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาดคือ สส.ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาโครงการใหญ่ๆหลายโครงการชวดลงภาคใต้เพราะพวก สส.บางคนบางกลุ่มขวาง ความเจริญจึงสู้ภาคอื่นไม่ได้
เวลานี้แม้สถานการณ์เปลี่ยน สส.กระจายอยู่หลายพรรค แต่เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภพในการผลักดันโครงการควรประสานให้สส.ทั้ง 14 จังหวัดเข้ามามีบทบาทด้วยน่าจะเกิดประโยชน์ทางบวกมากกว่าลบ
ดังนั้นหากรัฐบาลอยากให้โครงการแลนด์บริดจ์ รุดหน้าไร้อุปสรรค ไม่ควรมองข้ามโครงสร้างอำนาจทางเมืองทุกระดับ เพราะมีหลายองค์ประกอบที่เป็นกับดักทำให้สะดุดได้ ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้านบาทและบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น่าจะเป็นตัวอย่างได้ดี !!!