นายกฯ ย้ำรัฐบาล มุ่งพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

324

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ย้ำรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการศึกษา มุ่งพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักในการเสริมสร้างแรงงานที่มีทักษะสูง สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

วันที่ 5 ม.ค. 67 เวลา 10.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมด้วย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญสรุป ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าวันนี้เป็นการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานสภานโยบายนี้ โดยย้ำว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาต่าง ๆ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด และความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็กำลังถูกทิ้งไปโดยประเทศรอบข้าง และเทคโนโลยีที่เราตามไม่ทัน โดยวันนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการศึกษา มุ่งพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักในการเสริมสร้างแรงงานที่มีทักษะสูง สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน  ทั้งยังช่วยสร้างอุตสาหกรรมไฮเทค/ผลตอบแทนสูง ต่าง ๆ ที่ทันสมัย ซึ่งจะกลายมาเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ในการทำงาน ยกระดับรายได้ให้สูงขึ้น สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเพื่อผลักดันให้สำเร็จ นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางในการขับเคลื่อน ดังนี้ 1) ในด้านอุดมศึกษา จากการที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ และได้พบปะกับนักลงทุนต่างชาติ ทั้งประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ เป็นต้น พบว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการ คือ เรื่องทักษะของแรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการต่างประเทศ ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง  ในขณะที่แรงงานไทยนั้น มีปัญหาช่องว่างของทักษะ (Skill Gap) หรือ แรงงานที่ไม่สามารถทำงานได้ตามความคาดหวังของนายจ้าง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ STEM (Science Technology Engineering Mathematics) หรือ สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์  และจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัย U.S. News Best Global Universities 2022-2023 ผลปรากฏว่าอันดับของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในอาเซียนหลายประเทศ ซึ่ง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องนี้อย่างมาก โดยหวังที่จะเห็นมหาวิทยาลัยของไทยให้ความร่วมมือและเร่งพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ หลักสูตรการเรียนการสอนควรปรับปรุงให้มีความทันสมัย มีมาตรฐาน และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะต้องมาจากความร่วมมือกับภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยในไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ขณะที่คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาก็จำเป็นต้องเพิ่มพูนองค์ความรู้ในการสอนเช่นเดียวกัน โดยผู้สอนต้องให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนของนิสิต นักศึกษาเป็นหลัก เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  อย่างไรก็ตามอาจารย์บางท่านอาจจะไม่ถนัดการสอน แต่เป็นนักวิจัยที่มีความสามารถ ก็ขอให้จัดสรรสายอาชีพงานวิจัยที่เหมาะสมกับคนเก่งแบบนี้ด้วย เพื่อให้เราใช้คนให้ถูกกับงาน หรือ Put the right person on the right job

นอกจากนี้นายเศรษฐากล่าวว่า มหาวิทยาลัยยังควรปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยมาให้นิสิต นักศึกษาได้ใช้ รวมถึงการบ่มเพาะให้นักศึกษาเกิดความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นสูงต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงาน  ซึ่งในโลกปัจจุบัน หนึ่งในรูปแบบการทำธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับคนรุ่นใหม่ คือธุรกิจ Start Up ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ และความรู้เชิงลึก (Deep Knowledge) ด้วย หากมหาวิทยาลัยมีการบ่มเพาะทักษะที่เหมาะสมให้กับนักศึกษา เชื่อได้ว่าในอนาคตจะก่อให้เกิดผู้ประกอบการ Start Up ที่มีศักยภาพสูงของประเทศไทยอีกมาก โดยเชื่อว่าหากประเทศไทยจะมี Unicorn ที่โตในระดับโลกได้ Unicorn เหล่านั้น กำลังรอคอยที่จะถูกค้นพบในมหาวิทยาลัยเหล่านี้

“รัฐบาลจะสนับสนุนเรื่องการนำนักลงทุนต่าง ๆ มาเจอกับว่าที่ Unicorn เหล่านี้ โดยใช้กลไกที่ได้แถลงไว้ เช่น การใช้การจับคู่นักลงทุน หรือ Matching Fund  รวมทั้งมหาวิทยาลัยจะต้องสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต (Life-long learning) ก่อให้เกิดการเพิ่มทักษะ/ปรับปรุงทักษะ ในทุกระดับ ด้วยองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับยุคสมัย และให้บริการกับประชาชนในหมู่วงกว้าง แม้ว่าจะไม่ได้เรียน หรือจบการศึกษาออกไปแล้ว ทั้งนี้ขอเน้นย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในประเด็นเรื่องการศึกษา ขอฝากให้มหาวิทยาลัยซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ปรับตัว พัฒนาตนเองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และความต้องการของตลาดแรงงานต่อไป” ประธานการประชุมกล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า 2) ในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะเห็นงานวิจัย R&D ที่ตรงกับนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์สมัยใหม่ เช่น EV หรือแม้ไฮโดรเจนที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว AI Quantum Computing เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Computer การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ที่ต้องมีเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัล การวิจัยเรื่องอาหารแห่งอนาคต และเทคโนโลยีอาหาร  และอีกหลาย ๆ ส่วน ที่ได้พูดถึงไปในช่วงแถลงนโยบาย  รวมทั้งได้ไปคุยกับบริษัทต่างชาติ เชื้อเชิญเข้ามาลงทุนเพื่อเป็นการสร้างดีมานด์ด้วย โดยเข้าใจดีว่างานวิจัยมีทั้งส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเป็นการวิจัยชั้นแนวหน้า (Frontier Research) ซึ่งอาจจะมีบางงานที่ไม่ได้ตรงกับนโยบายอย่างชัดเจน จึงอยากขอให้แบ่งสรร ปันส่วน จัดกลุ่มให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้นำเงินภาษีประชาชนไปสนับสนุนงานวิจัยที่ไม่ตรงกับนโยบายของประเทศ แต่ก็ไม่ปิดกั้นโอกาสให้นักวิจัยค้นพบเรื่องใหม่ ๆ ที่อาจจะกลายมาเป็นอนาคตที่ไกลกว่าที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายไว้

นายกเศรษฐา กล่าวว่า เข้าใจว่าการวิจัยอาจจะสร้างค่าใช้จ่ายมาก แต่ขอให้ตั้งเป้าหมาย มีตัวชี้วัดที่เหมาะสม จะได้ทำอย่างมีทิศทาง เรื่องการพัฒนาคน พัฒนานักวิจัย เชื่อว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับแนวทางการใส่เงินอุดหนุน ซึ่งขอให้สร้างคนและนักวิจัยในสัดส่วนที่เหมาะสม ตรงกับนโยบายที่ได้กล่าวเช่นกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมานวัตกรรมของเราอาจจะเน้นแก้ปัญหาขนาดเล็ก วันนี้อยากให้เน้นนวัตกรรมที่เกิดจากการใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มาแก้ปัญหาให้กับโลก และนำไปต่อยอดได้จริง สร้างเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ได้ โดยกองทุนที่มีอยู่นี้ หากบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะกลายเป็นสปริงบอร์ดที่ติดจรวจให้การเติบโตของประเทศ พร้อมย้ำกับคณะกรรมการฯ ว่า ทุกคนที่อยู่ในที่นี้ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญ ขอให้ช่วยกันระดมความคิด ทำรายละเอียดออกมาเป็นยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศไทยเราพัฒนา โตไปสู่อุตสาหกรรม High Tech เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยกัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนหน่วยงาน กรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมว่าให้คณะกรรมการที่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติให้ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบคอบ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุดต่อองค์กรและประเทศชาติต่อไป

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #เศรษฐาทวีสิน #สภาการนโยบายอุดมศึกษา