“ศึกวิวาทะ”อัยการ-ตำรวจ”ปมคดีเด็กวัย 14 กราดยิง ตร.เล็งชง กม.ลดอายุเอาผิด     

610


      ข่าวเด็กชายวัย 14 ปี กราดยิงในห้างสยามพารากอน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เหตุเกิดต้นเดือนตุลาคม 2566 กลายเป็นประเด็นร้อนส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่  อีกคำรบหนึ่ง

     เมื่ออัยการตีกลับสำนวนคดีที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้อบไปให้ จนกลายเป็นศึกวิวาทะกัน

    โดย นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ตามที่พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ส่งสำนวนการสอบสวนให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566กล่าวหาเด็กอายุ 14 ปี ผู้ก่อเหตุหลายข้อหา เมื่ออัยการตรวจสำนวนแล้ว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อตรวจและบำบัดรักษา

   “ทางสถาบันกัลป์ยาณ์ราชนครินทร์รับเด็กไว้บำบัดรักษา เพราะเชื่อว่ามีอาการป่วยทางจิตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ และจากการตรวจสำนวนการสอบสวนปรากฏว่าวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 อยู่ในช่วงที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดียังไม่เสร็จสิ้น”นายนาเคนทร์ระบุ และว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนคำให้การผู้ต้องหา โดยยังไม่ได้รับผลการตรวจประเมินวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ที่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นอย่างใด อีกทั้งยังมิได้สอบสวนแพทย์ผู้ตรวจให้ได้ความกระจ่าง และวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ทางสถาบันกัลยาณ์ฯส่งรายงานผลวินิจฉัยของจิตแพทย์เจ้าของไข้และทีมสหวิชาชีพ นิติจิตเวชว่าผู้ต้องหาไม่มีความเข้าใจตระหนักรู้เรื่องข้อกล่าวหา ไม่มีความสามารถในคุยและตอบคำถาม รวมถึงไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมได้ สรุปว่าผู้ต้องหายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้

   นายนาเคนทร์ ระบุว่า การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากสถาบันกัลป์ยาณ์ฯเรื่องความสามารถของผู้ต้องหาก่อน แล้วทำการสอบสวนพร้อมมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14,134 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว 2553 มาตรา 6 โดยถือว่าเป็นการสอบสวนผู้ต้องหาเด็กโดยไม่ชอบ จึงมีคำสั่งคืนสำนวนไปยังพนักงานสอบสวน

 ขณะที่ พ.ต.อ.จิรพัฒน์ พรหมสิทธิการ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ชี้แจงถึงการแจ้งข้อกล่าวหาว่าก่อนที่พนักงานสอบสวนเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหา แพทย์เจ้าของไข้ได้อนุญาตให้เข้าไปสอบปากคำผู้ก่อเหตุ ทีมพนักงานสอบสวนไม่ได้เข้าไปโดยพลการหรือผิดขั้นตอนแต่อย่างใด

  “มีหนังสือแจ้งมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ว่าแพทย์อนุญาตให้สอบปากคำและการสอบปากคำมีทั้งอัยการ สหวิชาชีพและทนายความ ซึ่งเด็กตอบโต้ได้ทั้งหมด ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้ก่อเหตุสามารถต่อสู้คดีได้ จึงสรุปสำนวนส่งให้อัยการ”พ.ต.อ.จิรพัฒน์กล่าวและว่าผู้ที่อนุญาตให้ทีมสอบสวนเข้าไปสอบปากคำคือแพทย์เจ้าของไข้ นอกจากแพทย์มีทีมรักจิตวิทยาร่วมประเมินด้วย

  ดังนั้นถ้ามองถึงการทำสำนวนจะโทษพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียวคงไม่ได้เพราะระหว่างเข้าสอบปากคำมีอัยการร่วมสอบด้วย ทำไมถึงไม่คัดค้านและแพทย์เจ้าของไข้อนุญาตอีกต่างหาก แต่เมื่ออัยการคืนสำนวนโดยอ้างผลแพทย์ว่าผู้ต้องหายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ต้องปล่อยผู้ต้องหาเพราะครบกำหนดผัดฟ้องแล้ว แต่กรณีนี้ทางแพทย์รับตัวไปรักษาต่อ เมื่อแพทย์บำบัดรักษาและประเมินว่าผู้ต้องหาอยู่ในภาวะปกติสู้คดีได้แล้ว พนักงานสอบสวนจะเข้าปากคำได้ ภายในอายุความ 20 ปี

    เหตุที่เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเพราะเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้นในเมืองไทยก็ว่าได้ ที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กวัย 14 ปี ก่อเหตุสะเทือนขวัญไล่ยิงในห้างดังกลางเมืองหลวงแล้วมอบตัว อีกทั้งญาติผู้เสียเกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะผู้ก่อเหตุอายุน้อย  

   ซึ่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)ยืนยันว่าคดีไม่ได้ล่าช้า พนักงานสอบสวนทำตามขั้นตอนกฎหมายทุกอย่าง ใช้ดุลพินิจในการแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมให้ความเห็นถึงกรณีกฎหมายที่ใช้กับเด็กที่ก่อเหตุรุนแรงมีอัตราโทษเบาและเกรงว่าผู้เสียหายจะไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกแบบอย่างของต่างประเทศมาศึกษาเพื่อปรับลดอายุของผู้กระทำผิดจาก 15 ปี และ 12 ปี เพราะปัจจุบันการก่ออาชญากรรมมีความรุนแรงมากขึ้นมีการเลียนแบบโซเซียลและผู้ก่อเหตุมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

    เมื่อมองบริบทโดยรวมแล้วสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมไทย ดำเนินไปในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำไม่ได้ร่วมหารือกันอย่างจริงจัง ทั้งที่คดีนี้เป็นคดีละเอียดอ่อนเพราะผู้ก่อเหตุอายุเพียง 14 ปี

  ซึ่งบุคลากรที่เกี่ยวข้องควรทำงานกันอย่างสอดประสาน เพื่อให้เป็นแบบอย่างสำหรับคดีอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะดูแนวโน้มแล้วพออนุมานได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกและจะรุนแรงมากขึ้นตามที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ประเมินไว้

  ทางออกที่ดีที่สุดรัฐบาลควรให้ความสำคัญด้วยการหาเจ้าภาพหลัก จัดสัมมนาระดมความคิด ความเห็น เพื่อหามาตรการป้องกันพร้อมๆกับการวางกรอบของกฎหมายให้รัดกุมรวมถึงการยกร่างกฎหมายใหม่ให้ครอบคลุม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำผิดที่ป่วยทางจิต ต้องมีขั้นตอนบำบัดที่ชัดเจนก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มุ่งเน้นเพียงเพื่อให้อยู่ในกรอบกฎหมายเพียงอย่างเดียว

  ถ้าหากรัฐบาลไม่ตื่นตัวที่จะบูรณา ยังปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายแบบเดิมๆ ต่างฝ่ายต่างทำเพียงเพื่อปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัว

    ฟันธงได้เลยว่าเหตุเด็กวัย 14 ปีก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญจะกลับมาซ้ำรอยอีกแน่นอน แถมรุนแรงกว่าเดิมอีกต่างหาก !!!