ประธานศาลฎีกา เปิดโครงการส่งเสริมพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องที่พึ่งแรกของประชาชน

391

ประธานศาลฎีกา เปิดโครงการส่งเสริมพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องที่พึ่งแรกของประชาชน นำข้อพิพาททางแพ่งทุกประเภทไม่จำกัดทุนทรัพย์ – คดีอาญาประเภทยอมความได้ เข้าระบบตั้งแต่เริ่มต้นจนมีคำพิพากษาตามยอม จบกระบวนการแบบ One Stop Service ได้ที่ศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่เสียค่าใช้จ่ายยุติด้วยความสมานฉันท์

วันนี้ (19 ธ.ค.2566) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม Ballroom ชั้น 5 โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาระบบ
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กิจกรรมที่ 4 การประชุมเชิงปฏิบัติการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องที่พึ่งแรกของประชาชน มีหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานภายนอกเข้าร่วมงานกว่า 200 คน


นางอโนชา ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย กอปรกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19ที่เข้ามาซ้ำเติม ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงานและวิถีชีวิตของประชาชน ในวงกว้าง ทำให้ผู้ประกอบการต้องหยุดดำเนินกิจการ หยุดค้าขายและเลิกจ้างงาน ประชาชนต้องประสบกับปัญหาการขาดรายได้หรือมีรายได้ลดลงอย่างไม่ทันตั้งตัว จึงต้องกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในการดำรงชีพหรือประกอบอาชีพ ทำให้มีภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น และมีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจากการชำระหนี้ เป็นวิกฤตหนี้สินภาคประชาชน ก่อให้เกิด
ข้อพิพาททางแพ่ง ข้อพิพาทแรงงาน และข้อพิพาททางอาญาตามมา ศาลยุติธรรมจึงส่งเสริมให้คู่กรณีและประชาชนนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เพื่อลดปริมาณคดีที่จะเข้าสู่ศาลและแก้ปัญหาข้อพิพาทของคู่กรณีให้ยุติโดยเร็วด้วยความพึงพอใจของทุกฝ่าย อันสอดคล้องกับนโยบายของประธานศาลฎีกาประจำปี 2566–2567 “ที่พึ่ง เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทันโลก” ศาลยุติธรรมพร้อมเป็นที่พึ่งของประชาชนในโอกาสแรกที่ได้รับความเดือดร้อนหรือมีข้อพิพาทด้วยการส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกในทุกขั้นตอนเพื่อให้ความขัดแย้งยุติลงด้วยความสมานฉันท์และ
ไม่ก่อภาระค่าใช้จ่ายแก่คู่ความ โดยการเข้าใช้บริการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องของศาลยุติธรรม คู่กรณีสามารถนำข้อพิพาททางแพ่ง
ทุกประเภทโดยไม่จำกัดจำนวนทุนทรัพย์รวมถึงความผิดอาญาบางประเภทอันยอมความได้ อาทิ ฉ้อโกง บุกรุก ยักยอก หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้ โดยยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หรือยื่นคำร้องผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) ทางเว็บไซต์https://mediation.coj.go.th ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่าย คู่กรณีไม่มีประวัติการถูกฟ้องคดี ซึ่งหากคู่กรณีตกลงกันได้และมีความจำเป็นสามารถยื่นคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม หรือเมื่อคู่กรณีไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมสามารถบังคับคดีได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องคดีอีก และยังสามารถรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างคู่กรณี นอกจากนี้กรณีที่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลงแล้วคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ หากปรากฏว่าอายุความครบกำหนด
ไปแล้วหลังจากยื่นคำร้องหรือจะครบกำหนดภายใน 60 วันนับแต่วันที่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลง ให้อายุความขยายออกไปอีก 60 วันนับแต่วันที่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลง โดยกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องสามารถดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นและมีคำพิพากษาตามยอมจน จบกระบวนการได้ที่ศาลชั้นต้นทั่วประเทศ
แบบ One Stop Service


ขณะที่วันเดียวกันนี้เมื่อเสร็จสิ้นพิธีเปิดโครงการแล้ว ได้มีการจัดอภิปรายหัวข้อ“กลไกสำคัญ
ในการขับเคลื่อนไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องที่พึ่งแรกของประชาชน” โดยนายอดุลย์ ขันทอง ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ และนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ผู้ประนีประนอมประจำศาลอาญาพระโขนง เป็นวิทยากรร่วมอภิปราย เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐ องค์กรภาคเอกชนทุกภาคส่วน และประชาชน
มีความเข้าใจในกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว และลดปัญหาความขัดแย้งอันจะช่วยให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคมได้อย่างยั่งยืน

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์