กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กเด็กแห่งชาติมหาราชินี ชี้มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่พบมากในหญิงไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคมะเร็งในสตรี ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก คือการติดเชื้อไวรัส HPV ทั้งนี้ เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการฉีดวัคซีน HPV หรือวัคซีนมะเร็งปากมดลูก
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เชื้อไวรัส HPV (Human papilloma virus) เป็นเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ มีราว 40 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรค โดยที่รู้จักกัน คือสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกและทวารหนัก และ สายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV โดยเฉพาะอายุกลุ่มเป้าหมาย แนะนำให้ฉีดในช่วงอายุ 11- 20 ปี ซึ่งเป็นอายุช่วงวัยรุ่น ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ตอบสนองกับภูมิคุ้มกันได้ดี ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ฉีด 2 เข็ม และอายุ15 ปีขึ้น ไปควรฉีด 3 เข็ม นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ช่องปาก ลำคอ นอกจากนั้นยังสามารถป้องกันภาวะการเกิดหูดหงอนไก่ของอวัยวะสืบพันธุ์
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน สามารถป้องกันและดูแลตัวเองได้ เช่น การดูแลป้องกันตัวเอง โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นสำหรับการเกิดมะเร็ง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การมีคู่นอนหลายคน การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และพฤติกรรมสุขภาพโดยรวม เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้เส้นใยต่าง ๆ การควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ในกรณีที่การป้องกันในระดับทุติยภูมิคือในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ เช่น ในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ที่อาจจะติดเชื้อไปแล้ว สามารถทำได้โดยการการคัดกรองโรค เพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว และควรตรวจสุขภาพประจำปี เช็คมะเร็งปากมดลูก( Pap smear ) อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
รศ.พิเศษ.พญ.วารุณี พรรณพาณิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ กล่าวต่อว่า การเลือกใช้วัคซีน HPV ชนิด 2, 4, หรือ 9 สายพันธุ์ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล และความพร้อมของแต่ละครอบครัว ตลอดจนนโยบายของแต่ละประเทศ วัคซีนทุกประเภทมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว จากการติดเชื้อ HPV ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ หรือหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ อย่างไรก็ตาม วัคซีน 2 สายพันธุ์ สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ที่เกิดจากการติดเชื้อจากสายพันธุ์ 16 และ 18 ได้ แต่ไม่ครอบคลุมสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ ในชนิด 4 และ 9 สายพันธุ์ นอกเหนือจากการป้องกันมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ ช่องปากและลำคอ จากสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น ยังช่วยป้องกันการเกิดหูดหงอนไก่ วัคซีน 4 สายพันธุ์ ช่วยป้องกันเชื้อไวรัส HPV ในสายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ และสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก วัคซีน 9 สายพันธุ์ สามารถป้องกันสายพันธุ์ 31, 33, 45, 52, และ 58 เพิ่มเติมขึ้นจาก 4 สายพันธุ์ ยิ่งมีความครอบคลุมและช่วยป้องกันเพิ่มมากขึ้น