ได้นำเสนอบันทึก ขอความเป็นธรรมของนายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส ส่งถึงอัยการสูงสุด(อสส.) กรณีการไต่สวนและการสอบสวนวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.)ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”และกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่เกี่ยวพัน คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอสกระทิงแดง ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจสน.ทองหล่อ เสียชีวิตช่วงเช้ามืด วันที่ 3 กันยายน 2555
ซึ่งนายชัยณรงค์ ได้แจกแจงว่าช่วงเกิดเหตุคดีไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจความรับผิดชอบและอสส.ไม่ได้มีคำสั่งให้เข้ารับผิดชอบคดีแต่อย่างใด จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 157 นั้น
ในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมนายชัยณรงค์ บอกว่าถึงเหตุที่เข้าไปเกี่ยวข้องว่า เข้าไปในฐานะส่วนตัว มิใช้ในตำแหน่งพนักงานอัยการ ไม่มีอำนาจหน้าที่และหน้าที่เกี่ยวกับคดีอาญาที่ นายวรยุทธ ตกเป็นผู้ต้องหา แต่อย่างใด
“ที่ข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องเนื่องจาก นายวรยุทธ รู้จักกับหลานสาวข้าพเจ้าสมัยเรียนอยู่ต่างประเทศด้วยกัน มาขอร้องและแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนโดยปริยาย เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797 ซึ่งไม่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ สัญญาแต่งตั้งตัวแทน ซึ่งหนังสือแต่งตั้งตัวแทนดังกล่าวสมบูรณ์เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ข้าพเจ้าจึงเข้าไปสิทธิตามกฎหมายแทนผู้ต้องหา”หนังสือระบุและว่าเข้าไปเป็นตัวแทนเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ
หนังสือระบุอีกว่าการเข้าไปเป็นตัวแทนได้พิจารณาบทบัญญัติกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคสี่ แล้วเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่รู้จักและนับถือเป็นญาติข้าพเจ้าจึงรับเป็นตัวแทนโดยปริยาย จึงเข้าไปดำเนินการตามสิทธิของผู้ต้องหาตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น จึงมิได้มีอำนาจหรือหน้าที่แต่เข้าไปเป็นการส่วนตัว จึงไม่มีอำนาจกดดัน จูงใจ หรือขู่เข็ญแต่อย่างใด
“ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 วรรคสี่ บัญญัติว่า พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้ สอดคล้องกับระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 48 กำหนดให้ผู้ต้องหามีสิทธิขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการได้”หนังสือระบุและว่า ยังมีหนังสือที่ อส 0007(ปผ)/ว 165 ลงวันที่ 3 กรกฏาคม 2557 เรื่องหารือข้อขัดแย้งในการดำเนินคดีอาญา..ที่ยืนยันว่าแม้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ แม้พนักงานอัยการจะออกคำสั่งและยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแล้ว พนักงานอัยการยังมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบสวนเพิ่มเติมได้ และไม่มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้พนักงานอัยการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมภายหลังจากที่ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว”หนังสือระบุ
หนังสือระบุอีกว่าสิทธิตามกฎหมาย นายวรยุทธ เห็นว่าพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนโดยตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังพบว่า พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์กลุ่มงานตรวจสอบทางเคมี ฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ตรวจสอบความเร็วรถตามภาพวงจรปิด คำนวณอัตราเร็วโดยเฉลี่ยมีค่าเท่ากับ 177 กิโลเมตร/ชั่วโมง การคำนวณดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลงประมาณ 17 กิโลเมตร/ชั่วโมง ตามรายงาน ลงวันที่ 26 กันยายน 2555 ซึ่งมี พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ ตรวจพิสูจน์เพียงผู้เดียว
“ต่อมาทราบว่า พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ มิได้ใช้ความรู้ความสามารถตรวจพิสูจน์เพียงคนเดียว แต่ไปสอบถามความรู้ทางวิชาการกับอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ตรวจอัตราความเร็ว โดยไม่ได้ยืนยันหรือรับรองในเอกสารตรวจพิสูจน์ทั้งที่เป็นเอกสารทางราชการ ว่าอาจารย์คนดังกล่าวตรวจพิสูจน์ด้วย อันเป็นการปกปิดข้อเท็จจริง จึงทำให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการผู้มีอำนาจคดีรวมทั้งอัยการสูงสุดไม่ทราบว่ามีอาจารย์ร่วมตรวจพิสูจน์ด้วย ทำให้พนักงานสอบสวนและอัยการรวมทั้งอัยการสูงสุดไม่มีโอกาสวักถามตรวจสอบวิธีการและหลักวิชาการ..ซึ่งขัดกับสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหา”หนังสือระบุและว่า ผู้ต้องหาจึงไปร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อหลายหน่วยงานและเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ผู้ต้องหาจึงไปร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาใช้สิทธิต่อสู้คดีเพื่อนำข้อเท็จจริงสคเข้าสู่สำนวน
“ซึ่งอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงยังมีประเด็นไม่สิ้นกระแสความในเรื่องความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการคำนวณฟิสิกส์ความเร็วรถ..จึงมีความเห็นให้พนักงานสอบสวน สอบเพิ่มเติม ประเด็นความเร็วรถและสภาพความเสียหายของรถผู้ต้องหาและรถผู้เสียหาย ผลการสอบสวนพบว่ามีการให้การขัดแย้งในในประเด็นความเร็วถึง 3 คน ”หนังสือระบุและว่า ดังนั้นผู้ต้องหามีสิทธิตามกฎหมายมอบอำนาจให้ทนายความหรือบุคคลที่เคารพนับถือและญาติไปโต้แย้งและขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการที่รับผิดชอบและพนักงานสอบสวน เพื่อโต้แย้งแสดงข้อเท็จจริงให้พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนได้ อันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้ต้องหาที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
เมื่อประเมินจากหนังสือร้องขอความเป็นธรรมพออนุมานได้ว่านายชัยณรงค์ เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีนี้ไปในฐานะส่วนตัว ซึ่งในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมระบุว่า”ข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีนี้ในฐานะส่วนตัว มิใช่ในตำแหน่งพนักงานอัยการ และไม่มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับคดีอาญาของ นายวรยุทธ แต่อย่างใด
“ดังนั้นการที่คณะกรรมการป.ป.ช.กล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นตัวการร่วมกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด..และฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งอัยการ ผู้ว่าคดี..ฯจึงเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด”หนังสือระบุ
นี่คืออีกประเด็นหนึ่งที่นายชัยณรงค์ มองว่าคณะกรรมการป.ป.ช.กล่าวหาแบบไม่เป็นธรรม โดยกล่าวหาว่าผิดมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ..
ซึ่งในข้อเท็จจริงนายชัยณรงค์ แจกแจงแล้วว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีในฐานะส่วนตัวตามที่ญาติขอให้เข้าไปดูแลเพื่อให้เกิดความธรรม มิได้เข้าไปในฐานะเจ้าพนักงานแต่อย่างใด !!!