หน้าแรกสังคมวัฒนาคุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5

วัฒนาคุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5

“รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์”ลงพื้นที่วัฒนา คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 ส่องเตาต้มน้ำโรงฆ่าไก่ซอยปรีดีพนมยงค์ 44 ชมต้นแบบคัดแยกขยะโรงเรียนไทยคริสเตียน เล็งปรับโฉมใหม่สวนพิบูลเวศม์ท้ายซอยปรีดีพนมยงค์ 13

(28 พ.ย. 67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตวัฒนา ประกอบด้วย

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โรงฆ่าไก่ ซอยปรีดีพนมยงค์ 44 ถนนสุขุมวิท 71 ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งสถานประกอบกิจการโรงฆ่าไก่ จำนวน 8 ราย มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ โดยใช้ถังดักเขม่าควันแบบสัมผัสเปียกและปล่องระบายควัน ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง จำนวน 7 ราย ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง จำนวน 1 ราย สำหรับต้มน้ำร้อนในการลวกไก่เพื่อถอนขน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทสถานที่ก่อสร้าง ประเภทแพลนท์ปูน ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนไทยคริสเตียน ซอยปรีดีพนมยงค์ 41 ถนนสุขุมวิท 71 พื้นที่ 11 ไร่ มีครูบุคลากรและนักเรียน 1,200 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษผลไม้และเศษอาหารในครัว เศษอาหารในแต่ละวันจะนำไปใส่ในเครื่องย่อยสลาย เพื่อเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับใช้บำรุงต้นไม้ภายในโรงเรียน เศษอาหารในส่วนที่เหลือจะนำใส่ถังขยะ มีเกษตรกรมารับไปเลี้ยงสัตว์ เศษกิ่งไม้ใบไม้นำมาหมักปุ๋ยใช้ในโรงเรียน 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งจุดแยกขยะรีไซเคิลแต่ละประเภท เช่น กระดาษ ขวดพลาสติก ขวดนม ถุงยืด เพื่อรวบรวมส่งบริษัทรับซื้อ โดย Wastebuy Delivery 3.ขยะทั่วไป จัดเก็บตามจุดตั้งวางถังขยะของอาคารทุกวัน มีห้องพักขยะทั่วไป รวบรวมส่งให้เขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ตั้งวางถังขยะอันตรายตามจุดที่กำหนด รวบรวมให้เขตฯ นำไปกำจัด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 6,410 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3,098 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 271 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 3,039 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางโรงเรียนในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่ เมื่อแบ่งตามกลุ่มทั้ง 3 กลุ่ม โรงเรียนจะอยู่ในกลุ่มที่ 3 คือมีปริมาณขยะเกิน 200 กิโลกรัม/วัน หากโรงเรียนมีการคัดแยกขยะแต่ละประเภทได้มากขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณขยะลดลงมาอยู่ในกลุ่มที่ 2 พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการคัดแยกขยะ สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามร่างข้อบัญญัติฯ ค่าธรรมเนียม พ.ศ. … (ฉบับใหม่) มีดังนี้ 1.ปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตร/วัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม/วัน ไม่คัดแยกขยะ คิดค่าธรรมเนียมเต็ม 60 บาท/เดือน ถ้าคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 บาท/เดือน 2.ปริมาณขยะเกิน 20 ลิตร/วัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือเกิน 4 กิโลกรัม/วัน แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัม/วัน คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 20 ลิตร หรือ 4 กิโลกรัม อัตราค่าธรรมเนียม 120 บาท/หน่วย 3.ปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือเกิน 200 กิโลกรัม/วัน คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 200 กิโลกรัม อัตราค่าธรรมเนียม 8,000 บาท/หน่วย

พัฒนาสวน 15 นาที สวนพิบูลเวศม์ ซอยปรีดีพนมยงค์ 13 ถนนสุขุมวิท 71 ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่ว่าง ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวน จัดทำทางเดิน ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับ ติดตั้งโคมไฟโซลาเซลล์ รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนริมคลองเป้ง พื้นที่ 870 ตารางเมตร 2.Pocket Park 39 ปลายซอยสุขุมวิท 39 พื้นที่ 200 ตารางเมตร 3.Vadhana Pocket Park ทองหล่อ 10 พื้นที่ 200 ตารางเมตร 4.สวนหย่อมหลังเขตวัฒนา พื้นที่ 40 ตารางเมตร 5.ที่ว่างสาธารณะปลายซอยสุขุมวิท 39 ริมคลองแสนแสบ พื้นที่ 365 ตารางเมตร 6.สวนหย่อมพานิชอนันต์ ซอยปรีดีพนมยงค์ 42 พื้นที่ 1,984 ตารางเมตร สวน 15 นาที อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนริมคลองศาลาลอย ซอยปรีดีพนมยงค์ 14 แยก 14 พื้นที่ 400 ตารางเมตร 2.สวนพิบูลเวศม์ ซอยปรีดีพนมยงค์ 13 พื้นที่ 2,100 ตารางเมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 91 ราย ดังนี้ 1.ซอยสุขุมวิท 1 ผู้ค้า 5 ราย 2.ซอยสุขุมวิท 19 ผู้ค้า 6 ราย 3.ซอยสุขุมวิท 21 (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 10 ราย 4.ซอยสุขุมวิท 21 (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 5 ราย 5.ซอยสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี แยก 1) ผู้ค้า 11 ราย 6.ซอยสุขุมวิท 31 ผู้ค้า 14 ราย 7.ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย 30) ผู้ค้า 29 ราย 8.ถนนสุขุมวิท (หน้าวัดธาตุทอง) ผู้ค้า 11 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยสุขุมวิท 1 ผู้ค้า 5 ราย 2.ซอยสุขุมวิท 33 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 20 ราย ส่วนในปี 2568 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกพื้นที่ทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยสุขุมวิท 19 ผู้ค้า 6 ราย 2.ซอยสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี แยก 1) ผู้ค้า 11 ราย โดยได้เชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ จัดเตรียมพื้นที่ทำการค้าใกล้เคียงไว้รองรับ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า รวมถึงจัดเก็บอุปกรณ์และทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ในการนี้มี นางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตวัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img