วันนี้ (3 ธันวาคม 2566) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด “โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ชุมชน” พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานและตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ 8 อุดรธานี เยี่ยมชมบูธนิทรรศการ อสม. ผลงานและศักยภาพการดำเนินงานของศูนย์วิทย์ฯ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP/SME และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/BRCA2 สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ห้องปฏิบัติการตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด พร้อมเปิดตัวการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test โดยมีนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อสม. ร่วมต้อนรับ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ 8 อุดรธานี
นายสันติ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงานวิชาการทางมีภารกิจในการศึกษา การวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศรวมทั้งเพื่อสนับสนุนกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคของประชาชนและการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ โดยมีการพัฒนาความรู้ให้กับ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ในการคัดกรองผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเตือนภัยสุขภาพในชุมชนอย่างเข้มแข็ง
สำหรับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เลย หนองบัวลำภู หนองคาย นครพนม สกลนคร และบึงกาฬ ได้ร่วมกับเครือข่ายพัฒนา อสม. ให้เป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน มีศูนย์แจ้งเตือนภัยต้นแบบหลายแห่ง อาทิ ชุมชนต้านภัยสุขภาพบ้านนาม่วงโมเดล จังหวัดอุดรธานี ที่มีส่วนช่วยสกัดรถเร่ในชุมชน ทำให้ชุมชนไม่มีผลิตภัณฑ์ที่มีสารสเตียรอยด์ปลอมปนจำหน่ายในร้ายขายของชำ แล็บชุมชนต้านภัยยาเสพติดห้วยไหโมเดล จังหวัดนครพนมซึ่งมี อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ร่วมตรวจเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชนร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานปกครองในพื้นที่
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจรของกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี เป็นห้องปฏิบัติการหลักที่ให้บริการตรวจด้วยเทคนิคอณูชีวโมเลกุล ปัจจุบันได้พัฒนาศักยภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการ สามารถเปิดให้บริการตรวจยีนมะเร็งเต้านมในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคกับญาติสายตรง ในเขตสุขภาพที่ 8 พื้นที่ใกล้เคียง และสามารถรองรับชาวต่างชาติจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยสามารถตรวจได้สูงสุดถึง 128 ตัวอย่างต่อเดือน นอกจากนี้ยังร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ พัฒนาให้ความรู้กับ อสม. ในเรื่องการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก HPV DNA ซึ่งเริ่มตรวจในพื้นที่วันนี้วันแรก
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ได้จัดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ชุมชน ขึ้น เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูง นักวิชาการจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์กับเครือข่ายในพื้นที่ มีรูปแบบการดำเนินการดังนี้
(1)การจัดประชุมสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่นการให้องค์ความรู้การเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก HPV DNA โดยการเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง (self collection)
(2)การแสดงนิทรรศการศักยภาพของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รวมทั้งภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เช่นศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์OTOP/SME ที่ได้รับการพัฒนาโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี
(3)การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะร่วมกับเครือข่ายตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย อายุ 30 – 60 ปี ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมาย 1,000,000 ตัวอย่าง ภายในปี 2567