“ความน่าเศร้าใจ หากวีรชนไม่มีความหมาย”

2322

เมื่อพูดถึงเดือนตุลาคม ไม่ทราบว่าผู้อ่านจะจินตนาการถึงสิ่งใด แต่ถ้าเป็นคนวัย60-70ปี+ขึ้นไป เขาเหล่านั้น คือผู้ที่ผ่านและเห็นการต่อสู้ด้วยพลังของประชาชนมาเมื่อ50ปีก่อน หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “14ตุลา” แม้ 14ตุลา จะมีภาพยนตร์ มีอนุสรณ์สถาน มีหนังสือ มีในแบบเรียนประวัติศาสตร์ แต่หลายคนที่ร่วมต่อสู้รวมถึงศึกษาในเรื่องนี้ กลับบอกกลับผู้เขียนและสะท้อนผ่านทุกสื่อว่า “ความหมาย” และความสำคัญของเหตุการณ์ 14ตุลา กลับพล่าเลือน และดูเหมือนไม่ขลังอีกต่อไป

ขอบคุณภาพ FB รักสยามฯ

ในปี 2566 วันที่ 14 ตุลาที่ผ่านมา ถูกพูดถึงกล่าวถึงอย่างสั้นๆเพียงวันเดียว ชั่วครู่เดียว หรือบางคนไม่ได้สนใจในจุดนี้เลย ที่ครุ่นคิดหยิบประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา มิใช่การโหยหาอดีต หรือขุดรากย้อนความทรงจำใดๆ แต่ทำไมเราดูเหมือนว่าพวกเราทุกคนไม่เคย “ถอดบทเรียน” แห่งความสูญเสีย การเรียกร้อง – ความรุนแรงก็มีให้เห็นอยู่ในช่วง5ทศวรรษที่ผ่านมา

“ทั้งที่ 14 ตุลา คือการลุกขึ้นสู้ครั้งแรกของประชาชนนับตั้งแต่ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผ่านไปนาน41ปี ประชาชนในประเทศนี้เรียนรู้และลุกขึ้นสู้ ลุกขึ้นเรียกร้อง แต่หลังจากนั้นประชาธิปไตยในประเทศก็ล้มลุกคลุกคลาน สะบักสะบอม และวนๆเวียนๆอยู่ในอ่าง”

50ปี ที่แล้ว คนหนุ่มสาวในยุคนั้นผ่านยุค3จอมพล สฤษดิ์ถนอม ประภาส ที่ครองอำนาจยาวนาน คนในยุคนั้นฝันถึงรัฐธรรมนูญ และสภาวะปกติ ระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ แต่ไม่รู้ทำไมผ่านมา 50ปีให้หลัง ข้อเรียกร้องและสถานการณ์ประเทศไทย ก็ยังมีการพูดถึงประเด็นเหล่านี้อยู่ดูเหมือนสังคมไม่ได้ขยับไปไหนได้ไกลมากนัก

“พวกเราทนอยู่กับระบอบที่มีประยุทธ์เป็นผู้นำนานถึง9ปีเต็ม เราเห็นการปราบปราม การกดขี่ผู้เห็นต่าง ตลอดจนการใช้ความรุนแรงทำให้มีผู้สูญเสียไปไม่มากก็น้อย แต่ทุกฝ่ายไม่เคยจดจำ ไม่เคยคิดที่จะก้าวกันไปข้างหน้า ไม่เคยข้ามพ้นปัญหาทั้งหมดไปได้เสียที ณ จุดนี้ แปลได้ว่า พลังของประชาชนถูกทำลายจนหมดสิ้นแล้วใช่หรือไม่”

แม้จะไม่มีคำตอบ แต่ผู้คนในสังคมไทยถูกบีบให้จำยอม เขาจะป้อนอะไรก็รับ ความชินชากลับเป็นสภาวะที่ประชาชนส่วนใหญ่ประสบเหมือนกันหมด

หลายคนรู้ดีว่าสังคมเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยที่ปกติ หลายคนทราบดีว่าเรามีรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจ มีการวางกลไกผ่านรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ให้แก้ง่ายๆ หลายคนคาดเดาท่าทีองค์กรอิสระและองคาพยพที่พยุง และผดุงให้รัฐนาวานี้อยู่รอดได้ โดยที่คนเคยสร้างความเสียหายให้ประเทศ ทำให้คนบาดเจ็บ ล้มตาย ล้มละลาย ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ โดยที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการเลย

ไม่ต้องพูดถึงการเลือกตั้ง ที่ผู้มีอำนาจอนุญาตให้มีพิธีกรรมนี้เพื่อเป็นยี่ห้อแปะให้นานาชาติเห็น ส่วนเนื้อในจะเป็นอย่างไร ไปตามหลักหรือไม่ คงไม่จำเป็นต้องตอบใดๆ

จะเห็นได้ว่า 50ปีก่อนเป็นอย่างไรในทางการเมืองวันนี้แทบจะมีชะตากรรมที่คล้ายคลึงกัน คนคุมอำนาจ ใครสืบทอดอำนาจยาวนานกลับไม่มีอะไร ประชาชนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ความเป็นธรรมยังคงเรียกร้องกันอยู่ ที่เปลี่ยนไปคือแค่โลกาภิวัฒน์ของโลก แต่ยังคงมีใครอยากแช่ฟรีซระบบในประเทศให้เป็นอมตะ 50ปี แทบไม่มีความต่าง

การต่อสู้ ความสูญเสียจากวีรชนตลอดทุกเหตุการณ์ใน50ปี ไม่มีความหมาย

มีใครสักคนเคยกล่าวไว้ว่าปัจจุบันอนุสรณ์สถานเป็นได้แค่เพียงแผงขายสลากกินแบ่ง มีเสวนาบ้างเป็นครั้งคราว มีการรำลึกเปีนพิธี ปีละหน ส่วนอีก364วัน ไม่มีความสำคัญใดๆ เสียงประชาชน วิญญาณคนที่มีหัวใจต่อสู่เป็นเพียงฝุ่น เสียงจางๆคราบน้ำตา ที่ยากจะหาใครมองเห็น

เป็นเรื่องที่สะเทือนใจ หากทุกอย่างจะไม่มีความหมายและสูญเปล่าจริงๆ …