คน 14 ตุลา ประสานเสียง ผ่านมา 50 ปี คนไทย “ยังจน” หนี้ท่วม

3765

เวทีเสวนาหลัง 50 ปี 14 ตุลาชี้คนไทยเป็นหนี้มากขึ้น ช่องหว่างคนรวย-คนจนยิ่งชัด เผยคนไทยกว่า 4.8 ล้านคน รายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2,800 บาท อยู่ใต้เส้นความยากจน แนะแก้ปัญหาระยะสั้นต้องเอาอย่างจีน พุ่งเป้าดึงก้าวข้ามเส้นความยากจน

มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา จัดเสวนา 50 ปี 14 ตุลา โดยมี รองศาสตราจารย์ วิทยากร เชียงกูร คณบดีกิตติคุณและอดีตคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้นำเสนอ “ทิศทางการแก้ปัญหาความยากจนของไทยหลัง 50 ปี 14 ตุลา”

รองศาสตราจารย์วิทยากร กล่าวว่า ยุคนี้รายได้คนไทยดีกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน แต่ถ้ายึดค่าครองชีพเป็นตัววัด สมัยก่อนเด็กจบใหม่สามารถเก็บเงินซื้อบ้านได้ แต่สมัยนี้เด็กจบใหม่ไม่มีปัญญาซื้อบ้าน เพราะค่าครองชีพสูง แม้ว่ารายได้สูงจริง แต่ค่าครองชีพสูง ทำให้แต่ละเดือนมีเงินไม่พอใช้ หนี้ก็มากขึ้น


“ผ่าน14 ตุลา 16 มา 50 ปี คนเป็นหนี้มากขึ้น แต่คนมองว่าเป็นเครดิต รัฐบาลก็มองเหมือนกันว่าเป็นหนี้มากเป็นเครดิต แต่ความจริงเป็นหนี้มากต้องใช้หนี้ ถ้าไม่นับตัวเงินโดยรวมคิดว่าแย่ลง เพราะตัวเงินเหมือนกับรายได้สูงขึ้น แต่ค่าครองชีพสูงตาม รวมทั้งความแตกต่างระหว่างคนรวยมาก ๆ คนชั้นกลางกับคนจนก็มีมากขึ้น” รองศาสตราจารย์วิทยากรกล่าว

อดีตคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ระบบทุนนิยมสร้างปัญหามาก ถึงแม้จะอ้างว่า ทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้คนมีรายได้ มีเครื่องอุปโภคบริโภคมากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน แต่ถ้าเปรียบกับคุณภาพชีวิต การกระจายทรัพย์สินและรายได้ มันคือระบบของการกดขี่ ขูดรีด ซึ่ง คาร์ล มาร์กซ พูดไว้นานแล้วว่า คนรวยยินดีจะช่วยคนจนทุกอย่าง ยกเว้นลงมาจากหลังคนจน โดยนำเอาโครงการประชานิยมต่าง ๆ มาสารพัด แต่ไม่ยอมเปลี่ยนโครงสร้าง เขายินดีบริจาค ยินดีมีประชานิยมแบ่งให้

รองศาสตราจารย์วิทยากร กล่าวอีกว่า ความยากจนที่แท้จริง คือความยากจนทางด้านทรัพย์สิน เพราะรายได้เป็นเรื่องที่มาทีหลัง และทรัพย์สินคือตัวที่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะฉะนั้นคนรวยก็จะได้ทั้งค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร ส่วนคนจนได้แต่ค่าแรงงาน ซึ่งถูกกดขี่โดยระบบที่นายทุนมีอำนาจมากกว่า โดยระบบทุนนิยมครอบงำทุกเรื่อง แม้ทางเศรษฐศาสตร์ทำให้เราเชื่อว่าระบบทุนนิยมดีที่สุด และระบบสังคมนิยมล้มเหลว หรือระบบอื่นไม่มีแล้ว ทำให้เราต้องพยายามไล่ตามให้ทัน โดยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่พัฒนาเศรษฐกิจมา 50 ปี เรากลับทำลายทรัพยากรมากขึ้น


“สมัย 14 ตุลา เราคิดว่าประชาธิปไตยคือระบบรัฐสภา ต่อมาเราก็คิดว่าระบบรัฐสภาไม่ดี สังคมนิยมน่าจะดีกว่า แต่เราก็คิดแบบสังคมนิยมอย่างง่าย ๆ คือยึดอำนาจรัฐขึ้นมาแล้วแบ่งปัน แต่เราต้องสร้างประชาชนให้เป็นนักสังคมนิยมด้วย เป็นคนที่จิตใจมีอุดมคติเพื่อส่วนรวม ซึ่งความจริงไม่ขัดแย้งกับเรื่องส่วนตัว เพราะในระยะยาวทุกอย่างจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน”

ด้าน ดร.สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผ่านมา 50 ปีเราก็ยังอยู่ในวังวนกับปัญหาความยากจน แม้ว่าเราพยายามหาทางแก้ไข โดยเส้นความยากจนของไทยยังอยู่ที่ 2,800 บาท ต่อคน ต่อเดือน และมีคนไทยประมาณ 4.8 ล้านคนอยู่ใต้เส้นนี้ ถ้าจะแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าก็ต้องพุ่งเป้าไปที่ 4.8 ล้านคนว่าทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ก้าวข้ามเส้นความยากจน ระบบการพุ่งเป้าเป็นการแก้ไขปัญหาแบบจีน โดยจีนจะสำรวจว่าในประเทศมีคนจนกี่คน อยู่ตรงไหน สาเหตุของความยากจนคืออะไร แล้วเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับคนจนเหล่านั้น ในชุมชนเหล่านั้นแบบพุ่งเป้า

อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า การแก้ไขความยากจนในระยะสั้นต้องใช้วิธีการแบบจีน โดยกำหนดไปเลยว่าตำบลไหน อำเภอไหน จังหวัดไหนมีคนจนกี่คน และเราจะไปแก้ปัญหาความยากจนด้วยการสร้างทักษะอย่างไร ให้ที่ทำกินเขาอย่างไร ให้เทคโนโลยีทางด้านการเกษตรเข้าไปช่วยอย่างไร และช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดอย่างไร รวมทั้งตั้งเป้าว่า คนจนที่พุ่งเป้าในแต่ละปีควรจะลดลงเหลือเท่าใด และกี่ปีจะหมดไป ถ้ามองปัญหาในเชิงจุลภาคที่จะเข้าไปแก้ไขเราต้องใช้วิธีการแบบนี้ ใครจน และจะช่วยคนจนอย่างไร ซึ่งการช่วยเหลือคนจนแบบพุ่งเป้าเป็นการช่วยเหลือชุมชนด้วย

ด้าน ดร.พีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ14 ตุลา และอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนของไทย ต้องทำอย่างไรให้คนอยู่ดีกินดีและใครที่มีความรับผิดชอบตรงนั้น เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ต้องทำให้เกษตรมีความสำคัญมากๆ ไม่ใช่ทำเฉพาะเรื่องของอาหารสะอาดอย่างเดียว แบบนี้ยังไม่พอ หรือกินอาหารแค่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องทำอาหารปลอดภัยออกมาสู่ตลาด หรือถ้าทำเป็นออร์แกนิคได้ก็จะดี ซึ่งงานเหล่านี้เกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน จะต้องมีการจัดการให้เหมาะสม ทั้งการส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการจัดการในเรื่องของการเตือนภัยต่างๆ ซึ่งจะต้องสอนให้เกษตรกรรู้ถึงปัญหา

ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ14 ตุลา กล่าวอีกว่า ระบบการศึกษาของไทยที่เน้นการศึกษาแบบธุรกิจควรจะหันมาดูแลเรื่องวิชาการด้วย เพื่อให้เกษตรกรรู้ว่าจะต้องทำอะไร เช่น การเตือนภัย ซึ่งการให้คำแนะนำรัฐบาลทำได้เลย ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้ต้องแก้ครั้งเดียว ทั้งการสร้างทรัพย์สิน สร้างเครื่องมือหากินให้กับเกษตรกร และต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด โดยให้ความรู้ ให้การศึกษากับเกษตรกร

“ส่วนตัวอยู่ในระหว่างการศึกษาปลูกกัญชา โดยทดลองปลูกในโรงเรือนประมาณ 500 ต้นได้ผลผลิตประมาณ 12 กิโลกรัมในครั้งแรก และครั้งที่ 2 ประมาณ 18 กิโลกรัม ราคาประมาณ 80 ดอลลาร์/กิโลกรัม หากใช้หลักวิทยาการมาปลูกแต่ละครอปที่ใช้เวลา 3 เดือน ก็อาจจะลดลงเหลือเพียง 2 เดือนครึ่ง ซึ่งหากเกษตรกรลงมือทำแบบนี้ก็จะช่วยให้เขาสามารถปลูกได้หลายครอปขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือ ตลาดรองรับผลผลิตที่ออกมา ซึ่งรัฐต้องหาให้เขา อาจจะมีนิคมที่ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามารับซื้อไปผลิตยา หรือมีตัวเลือกอื่น ที่สร้างความมั่นจว่าเมื่อผลผลิตออกมาแล้วต้องมีตลาดให้กับเกษตรกร” ดร.พีรพล กล่าว

นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีตสมาชิกวุฒิสภา เสนอว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม ประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือค่อนข้างเด่นชัดอยู่แล้ว โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ฝ่าวิกฤตโควิด 19 มาได้ และสารพัดอาสาสมัครต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาด้วยดีตลอด ขณะที่ภาครัฐเองโดยเฉพาะนักการเมืองไม่ได้ใส่ใจปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง และเห็นว่าต้นแบบของการแก้ไขปัญหาอยู่ที่การศึกษาของคนไทย

“ยกตัวอย่างโรงเรียนชัยพัฒนาซึ่งสร้างองค์ความรู้ทักษะการดำเนินชีวิตการจัดการเศรษฐกิจรวมถึงการตลาดโดยเอานักเรียนขึ้นมาบริหารโรงเรียนเองและนักเรียนของโรงเรียนนี้จะต้องเสียค่าเรียนปีละ 100,000 บาทก็ไม่ต้องจ่ายเป็นเงิน แต่เปลี่ยนมาใช้เป็นวิธีการปลูกต้นไม้ทดแทนปีละ 400 ต้นและทำความดีในชุมชน การทำความดีก็ต้องเขียนบันทึกความดีแล้วไปแจ้งต่อคณะกรรมการชุมชนให้รับทราบ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาการศึกษาให้กับคนไทย ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหาทางด้านสุขภาพเพราะหากสุขภาพไม่ดีเงินที่หามาได้ทั้งชีวิตก็จะถูกใช้จ่ายไปกับการรักษาสุขภาพ” อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าว

ด้านอดีตประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ กล่าวว่า เรื่องที่น่าสนใจและควรจะห่วงใยคือเรื่องเงินดิจิตอลที่กำลังจะออกมา ซึ่งต้องให้ความสำคัญในเรื่องการต่อยอดจากเงินดิจิตอลที่กำลังพูดถึง เพราะมีการดึงมวลชนออกมา


“คณะที่ออกนโยบายเรื่องนี้เขาต้องการจะต่อยอดกระบวนการขับเคลื่อนตรงนี้ ซึ่งเขาก็ทำได้ดี ยกตัวอย่างเช่นการจับต่อยอดจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จนถึงขณะนี้เราต้องยอมรับว่าคนในภาคอีสานจดจำและรัฐบาลที่ทำเรื่องนี้เขาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล แต่พวกเราที่ทำงานมาโดยตลอด แต่อาจจะขาดช่วงความคิดที่จะปฏิรูปสังคมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแผนใหม่ ดังนั้นเราอาจจะต้องหันไปมองดูเพื่อนบ้านอ่าง เวียดนาม ว่าทำไมเขาถึงเจริญรุดหน้าเราได้เร็ว เรื่องบางเรื่องเราควรจะต้องให้น้ำหนัก โดยเฉพาะกิจกรรมต่างๆ ว่าเราจะเดินหน้ากันอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนหลังจาก 50 ปี 14 ตุลาที่เราเดินมา” อดีตประธานวุฒิสภา กล่าว

นายประเดิม ดำรงเจริญ อดีตหัวหน้าพรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาของไทยจะต้องยกภูมิศาสตร์ของประเทศขึ้นมาเป็นตัวตั้ง ว่าประเทศไทยอยู่ในเขตไหน เหมาะสมที่จะทำอะไร การเกษตรตรงไหน การท่องเที่ยวตรงไหน และทำไปได้อย่างไรกับการที่ปล่อยให้นักการเมืองเปิดโอกาสให้มีการสร้างเขตอุตสาหกรรมในเขตปากน้ำ เช่นที่สมุทรปราการ เพราะเขตเกษตรอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมควรอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น โคราชหรือดงพญาเย็น

“เราจะต้องพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์ว่าเหมาะสมกับอะไร ที่สำคัญเกษตร นายทุน รัฐบาล ทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องมาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยกัน ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้เกษตรกรไทยลดลงเหลือแค่ไม่เกิน 10% จากจำนวนประชากรทั้งหมดโดยภาคเกษตรที่หายไปกลายมาเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น” นายประเดิม กล่าว

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์