ศาลแพ่ง ยกคำร้อง ตำรวจ สน.ดุสิต ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งผู้ชุมนุม หน้า UN เลิกการชุมนุม

220

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 66 ผู้สื่อข่าวไทยแทบลอยด์ รายงานว่า กรณีสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ยื่นคำร้องใจความว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 หัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้รับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุมแจ้งการชุมนุมสาธารณะ บริเวณหน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนินนอก แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ของการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และแก้ไขปัญหากรณีของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยลักษณะการชุมนุมสาธารณะ ไม่มีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุม มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 500 คน

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายการชุมนุมจากหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) มายังบริเวณเกาะกลางคู่ขนาน ใกล้กับประตู 5 ติดกับแนวรั้วทำเนียบรัฐบาล ถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จึงเป็นการผิดเงื่อนไขการชุมนุมที่ได้แจ้งไว้กับหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดุสิตเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม และได้อ่านประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ เรื่อง ให้แก้ไขการชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากปรากฏว่าการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวมีลักษณะฝ่าฝืนกฎหมาย ประกอบกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีคำสั่งที่  409/2566 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เรื่อง ประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล ตามมาตรา 7 วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  จึงขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายกลับไปจัดการชุมนุมที่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุม ณ บริเวณแนวรั้วทำเนียบรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม


บัดนี้ ศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ ชส.4/2566 มีคำสั่งโดยสรุปได้ว่า ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะจัดการชุมนุมสาธารณะได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง, 19 วรรคหนึ่ง

ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เวลาประมาณ 09.00น.ผู้ชุมนุมดังกล่าวได้รวมตัวกันหน้าอาคารองค์การสหประชาชาติและได้เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมมายังบริเวณเกาะกลางคู่ขนานใกล้กับประตู 5 ติดกับแนวรั้วทำเนียบรัฐบาล ถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต มีผู้ร้องเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจดังกล่าว การที่ผู้ชุมนุมมิได้แจ้งว่าจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม แต่กลับมาเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุม จึงผิดเงื่อนไขการชุมนุมที่ได้แจ้งไว้ โดยไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 หลังจากนั้นผู้ร้องได้อ่านคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่   409/2566 ลงวันที่ 2  ตุลาคม 2566 เรื่อง ประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล ตามมาตรา 7 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่ผู้ชุมนุมยังคงยืนยันและพักค้างแรม ณ บริเวณเกาะกลางคู่ขนานใกล้กับประตู 5 ติดกับแนวรั้วทำเนียบรัฐบาล และผู้ร้องได้อ่านประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ที่ 187/2566 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2566 เรื่อง ให้แก้ไขการชุมนุมสาธารณะ เมื่อผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะเห็นชอบที่จะร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้นได้ ตามมาตรา 21 วรรคสอง ในกรณีที่เป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต่อเนื่องหลายพื้นที่ ให้ผู้บังคับการหรือผู้บัญชาการตำรวจซึ่งรับผิดชอบพื้นที่การชุมนุม แล้วแต่กรณี เป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่า การชุมนุมสาธารณะดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต่อเนื่องหลายพื้นที่ระหว่างสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ดังนั้น ผู้มีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะคือ ผู้บังคับการหรือผู้บัญชาการตำรวจซึ่งรับผิดชอบพื้นที่การชุมนุม แล้วแต่กรณี

ผู้ร้อง เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดุสิต มายื่นคำร้องขอต่อศาล โดยไม่ปรากฏว่ามีการมอบอำนาจหรือได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการหรือผู้บัญชาการตำรวจ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 19 วรรคสอง

ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องร้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์