นับแต่นี้เป็นต้นไปการบริหารบุคลากรองค์กรตำรวจ ภายใต้การกำกับดูแลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) จะอุดมไปด้วยผลประโยชน์ต่างตอบแทน
ที่กล้าฟันธงเพราะการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)คนใหม่ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่ากฎหมายที่บังคับใช้ในการแต่งตั้งครั้งแรกถูกละเลยแบบไม่ใยดี
แม้ นายเศรษฐาจะอธิบายถึงเหตุผลว่า ที่เสนอ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผบ.ตร. แคนดิเดตทั้ง 4 นาย อาวุโสต่างกันไม่มากนัก ทุกคนมีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกัน ผ่านงานมาทุกรูปแบบ แต่ ผบ.ตร.คนใหม่ต้องทำงานสนองนโยบายรัฐบาลโดยเฉพาะงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯมั่นใจว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สามารถทำงานส่วนนี้ได้ดี”
คำอธิบายนี้ตำรวจส่วนใหญ่จะกังขาแค่ไหนไม่ขออธิบายให้มากความ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าตำรวจที่จบจากโรงเรียนเตรียมทหารและนายร้อยตำรวจ ความจงรักภักดีต่อสถาบันได้ฝังอยู่ในดีเอ็นเอตั้งแต่เข้าเรียนเตรียมทหารแล้วและ รอง ผบ.ตร.อาวุโสอับดับ1-3 ล้วนแต่จบจากสถาบันเหล่านี้
ดังนั้นการตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ คงปฏิเสธลำบากกับเสียงครหาว่าเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน จะเป็นต่างตอบแทนแบบไหนแวดวงชาวสีกากีต่างทราบกันดี
ผลพวงครั้งนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานในการแต่งตั้งรองผบ.ตร.-ผู้บังคับการ(ผบก.)จะดำเนินไปในลักษณะต่างตอบแทนแน่นอน เพราะส่องดูการประชุมก.ตร.โดยมี ก.ตร. 16 คน รองผบ.ตร. 4 คนไม่สามารถโหวตได้เพราะมีส่วนได้เสีย จึงเหลือ 12 เสียง มีมติเห็นชอบ 9 คน ไม่เห็น 1 เสียง และ งดออกเสียง 2 คน
ก่อนโหวดตั้ง ผบ.ตร.ชาวสีกากีส่วนใหญ่มั่นใจว่า ก.ตร.จะยึดกฎหมายการแต่งตั้งอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเป็นการประเดิมใช้เป็นครั้งแรก บวกมีการเลือกตั้ง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนถึง 6 คน
แต่เมื่อถึงเวลาทำหน้าที่ ก.ตร.ผุ้ทรงคุณวุฒิกลับรับบทเดิมๆที่ ก.ตร.ในอดีตยึดมั่นมาโดยตลอดนั่นคือบทตรายาง มีทำหน้าที่เพียงแค่โหวตให้ตรงกับความต้องการของผู้มีอำนาจมากกว่ายึดหลักกฎหมาย แล้วรอรับผลตอบแทนในภายหลัง
ตำรวจส่วนใหญ่ในอดีตต่างรับทราบถึงบทบาทตรายางของ ก.ตร.ได้เป็นอย่างดี ขอย้อนความหลังให้เห็นว่าก.ตร.ในอดีตบางคนมีหน้าที่เพียงเพื่อดูแลบริวารในสังกัดให้ได้ตำแหน่งมากกว่าที่จะเป็นปากเป็นเสียงแทนให้กับตำรวจส่วนใหญ่ที่เลือก ก.ตร.เหล่านั้น
โดยการประชุม ก.ตร.เพื่อแต่งตั้งนายพลสมัยหนึ่ง ผู้นำสำนักปทุมวัน นั่งหัวโต๊ะพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายระดับผู้บัญชการ(ผบช.)-ผบก.มี ก.ตร.ทั้งโดยตำแหน่งและก.ตร.ที่ตำรวจระดับ พ.ต.อ.ขึ้นไปเลือกเข้ามา ที่ประชุมประเดิมด้วยตำแหน่งผบช.มี ก.ตร.ได้หลายคนเสนอตำรวจในสังกัดนั่ง ผบช.ได้สมใจ
เมื่อถึงคิวตั้ง ผบก.ปรากฏว่า ก.ตร.ที่ดันลูกน้องได้สำเร็จ แสดงความเห็นคัดค้านนายตำรวจที่ผู้นำสำนักปทุมวัน เสนอ จึงถูกสวนว่า”พี่ได้แล้วจะคัดค้านอะไรอีก ก.ตร.คนดังกล่าวสงบปากสงบคำกระทั่งการประชุมเสร็จสิ้น
เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่พอสะท้อนว่า ก.ตร.บางคนบางกลุ่มมิได้ยืนหยัดสู้เพื่อตำรวจส่วนใหญ่แต่อย่างใด ยิ่งในยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ครองอำนาจ ก.ตร.เป็นได้แค่เจว็ดเพราะล้วนแต่มาจาก คสช.แต่งตั้ง
เมื่อมีกฎหมายใหม่กำหนดให้เลือกตั้งก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ช่วงหาเสียงบรรดาผู้สมัครต่างโชว์วิสัยทัศน์ผดุงระบบคุณธรรมและยึดหลักธรรมาภิบาล สร้างความหวังให้ชาวสีกากีที่ ไร้นาย ไร้ปัจจัย แต่มีผลงาน จะได้รับความเป็นธรรมเมื่อฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้าย
แต่เมื่อผลโหวตตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ปรากฏออกมาความสิ้นหวังบังเกิด มโนภาพแห่งวงจรอุบาทว์ผุดขึ้นในสมองและห้วงสำนึกในทันทีว่า หากจะเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นต้องวิ่งเต้นเข้าหา ก.ตร.คนไหน ผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลพวกไหน ต้องหาปัจจัยที่ไหนมาสนับสนุน
เพราะต่างเชื่อมั่นการแต่งตั้งระดับนายพลตำรวจที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ผลประโยชน์ต่างตอบแทนเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน แม้แต่กฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างรัดกุมยังไร้ความศักดิ์สิทธิ์
ดังนั้นเพื่อไม่ให้มโนภาพแห่งวงจรอุบาทว์ปรากฏ ได้แต่หวังว่า ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิกลับมานั่งทบทวนบทบาทที่ได้แสดงไปนั้นเสียใหม่ ลบภาพ ก.ตร.ตรายาง แล้วหันมาเดินตามนโยบายที่สัญญาไว้ระหว่างหาเสียง ตามที่ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ทำไว้เป็นแบบอย่างแล้ว
อย่างน้อยจะได้ช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์อันแสนอัปยศติดลบในเวลานี้ กลับมายืนที่แค่จุดศูนย์ไม่ต้องเลยไปถึงเลขหนึ่งก็พอแล้ว
แต่ถ้า ก.ตร.ยังเพิกเฉยพอใจกับบทบาทตรายาง รอรับผลประโยชน์ต่างตอบแทน ขอทำนายล่วงหน้าได้เลยว่า ผบ.ตร.ในอนาคต คือเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.ที่ขยับเป็น รอง ผบ.ตร.ถึง ผบก.ในคำสั่งที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้แน่นอน ผู้ที่อาวุโส อย่างเดียว ไม่พอ และกฏหมาย ระเบียบที่วางไว้ว่ากฏเหล็ก ที่วางใว้ จะเป็นเพียงแค่ กฎใว้ให้ ฝันเปียก ไปตามระเบียบ !!!