พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ความสามารถในการทำกำไร (PBT) ของธนาคารปี 2565 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อในปี 66 เติบโตในระดับ High single digit หรือโตเกือบ 10% โดยแนวโน้มความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้การจับจ่ายใช้สอย และการลงทุนต่างๆกลับมาฟื้นขึ้น ธนาคารยังมองว่ากลุ่มสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่จะยังคงเห็นการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากการกลับมาลงทุนโครงการต่างๆ รวมไปถึงสินเชื่อรายย่อยที่
ยังเห็นการเติบโตกลับมาที่ดี อย่างไรก็ตาม ธนาคารเล็งเห็นโอกาสการขยายฐานลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้บริการผ่านช่องมางดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานลูกค้าที่สำคัญในการมุ่งพัฒนาบริการทางการเงินของธนาคารที่มุ่งสู่บริการด้านดิจิทัล ส่วนสาขาของธนาคารที่มีอยู่กว่า 50 สาขา ในปัจจุบัน ไม่มีแผนการขยายสาขาเพิ่ม แต่สาขาที่มีอยู่บางส่วนจะปรับรูปแบบสาขาให้เป็นการให้บริการ Wealth management มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้นำสาขาของธนาคารที่มีมาปรับให้เป็นบริการกลุ่มลูกค้า Wealth management ราว 10 สาขา ซึ่งตอบโจทย์กับพฤติกรรมการใช้บริการของลูกค้าที่มาที่สาขาในปัจจุบัน
การบริหารจัดการการตั้งสำรอง และความพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งคุณภาพสินทรัพย์และการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้นช่วยลดต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อ (Credit Cost) และอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ปรับตัวลดลง ด้านสินเชื่อและเงินฝากเติบโต 11.0% และ 21.0% ตามลำดับ (YoY) อย่างไรก็ตามธนาคารจะพยายามควบคุมคุณภาพหนี้ควบคู่ไปด้วย เพื่อควบคุมให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.3% ทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคารมีคุณภาพลูกหนี้ที่เหมาะสม
ธนาคารจะก้าวต่อไปในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นทางการเงินที่ดีที่สุดในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสนามที่ธนาคารถนัดอย่างการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ซึ่งการยกระดับและปรับปรุงช่องทางให้บริการการลงทุนที่หลากหลายช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ครอบคลุมครบวงจรและไม่ยุ่งยาก นอกจากนี้ ในปี 2565 ได้เพิ่ม Open Architecture บนแอป CIMB TH Digital Banking เพื่อคัดสรรกองทุนรวมดีๆ จากบลจ.ชั้นนำให้ลูกค้าเลือกลงทุนง่ายๆแค่ปลายนิ้ว ขณะเดียวกันบัญชีเงินฝากดิจิทัล CHILL D และ Speed D+ ที่เปิดบัญชีได้ผ่านแอปได้รับการตอบรับอย่างมาก โดยภาพรวมเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) และเงินลงทุน (AUM) จากช่องทางดิจิทัลเติบโตมากกว่า 200%
ซีไอเอ็มบี ไทย ในฐานะผู้นำตลาดธุรกิจบริหารเงิน (Treasury) จากทีมงานที่มุ่งมั่นและพลังงานเหลือล้น โดยได้รับรางวัลมากมายตลอดทั้งปี จะเดินหน้ารักษาตำแหน่งผู้นำตลาดผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ชั้นนำ และสำรวจช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆทางดิจิทัล ควบคู่ไปกับกระแสของตลาดหลัก ๆ และให้ทันกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ธนาคารจะยกระดับคุณค่าและบทบาทการเป็นธนาคารระดับภูมิภาคเพื่อดูแลลูกค้าองค์กร โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่าย แพลตฟอร์ม และโซลูชั่นของกลุ่มซีไอเอ็มบีในอาเซียน ปัจจุบัน ซีไอเอ็มบี ไทยเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทหลักของบริษัทแม่ ของการเป็นผู้สนับสนุนธุรกิจระดับภูมิภาคผ่านเครือข่ายแข็งแกร่งของกลุ่มซีไอเอ็มบี และธนาคารยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนการเติบโตและความต้องการเงินทุนของลูกค้าองค์กร ในฐานะผู้ออกหุ้นกู้เอกชน หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน และติดอันดับ Top 5 ของการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ของประเทศไทย
ก้าวเข้าสู่ปี 2566 ด้วยยุทธศาสตร์ Forward23+ โดยธนาคารจะขับเคลื่อนการเติบโตสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘To be a digital-led bank with ASEAN reach : ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล’ ผ่าน 7 กลยุทธ์หลัก ปรับพอร์ตโฟลิโอ กระจายผลิตภัณฑ์เงินฝาก ขับเคลื่อนต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างคุณค่าผ่านดิจิทัล บริหารความเสี่ยงอย่างแข็งขัน สร้างเสริมพัฒนาทรัพยากรบุคคล และความยั่งยืน
ด้วยความทุ่มเทเพื่อให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ซีไอเอ็มบี ไทย ออกแบบโซลูชั่นให้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของตลาด เห็นได้จากแคมเปญล่าสุดของผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันได้ และเป็นเครื่องมือที่ช่วยลูกค้าจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยยึด 4 แกนหลัก ได้แก่
- Sustainable Action การดำเนินการที่ยั่งยืน
- Sustainable Business ธุรกิจที่ยั่งยืน
- Governance and Risk การกำกับดูแลและความเสี่ยง และ
- Stakeholder Engagement and Advocacy การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการสนับสนุน
นอกจากนี้ ด้านวัฒนธรรมองค์กร ธนาคารมีค่านิยมหลัก ‘EPICC’ ช่วยให้พนักงานก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคม