ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติรายชื่อกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนฯชุดใหม่ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ หลังชุดเก่าลาออก โดยระบุว่า “เมื่อวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบอร์ด ขสมก.ที่ยังคงดำรงตำแหน่งพ้นจากตำแหน่ง พร้อมทั้งอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ ขสมก.ชุดใหม่รวม 10 คน โดยมีประธานกรรมการและกรรมการจำนวน 6 คน เป็นคนเดิมที่เคยดำรงตำแหน่งในบอร์ดชุดที่แล้ว
ก่อนหน้านั้น นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ขสมก.ชุดที่แล้วได้ลาออกจากตำแหน่งโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา ทั้งนี้ นายณัฐชาติอ้างว่าได้ทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยแผนฟื้นฟู ขสมก. และการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 489 คัน มีความคืบหน้าแล้ว แต่มีกระแสข่าวออกมาว่า เหตุที่นายณัฐชาติลาออกก็เพราะว่ามีปัญหาการทำงานกับบอร์ดบางคน กล่าวคือ มีการกล่าวหาว่าบอร์ดบางคนมักคัดค้านการดำเนินงานของนายณัฐชาติ และนำข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไปสู่สาธารณชน อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันภายในว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องการจะให้บอร์ดลาออกทั้งชุด และจะแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ขึ้นมาโดยมีนายณัฐชาติเป็นประธานเช่นเดิม แต่จะไม่แต่งตั้งบอร์ดที่ถูกมองว่ามีปัญหากลับเข้ามา
หลังจากนายณัฐชาติลาออก ปรากฏว่ามีบอร์ดคนอื่นอีก 5 คน ลาออกตามในเดือนเมษายน 2561 ซึ่งประกอบด้วย พล.อ.วราห์ บุญญสิทธิ์ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รศ.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ นายชัยชนะ มิตรพันธ์ และน.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ แต่ก่อนที่นายณัฐชาติจะลาออก ปรากฏว่ามีบอร์ดคนหนึ่งลาออกด้วยปัญหาสุขภาพเมื่อประมาณปลายเดือนธันวาคม 2560 นั่นคือ รศ.พัชรา พัชราวนิช ดังนั้น จึงเหลือบอร์ดที่ไม่ลาออกจำนวน 3 คน ประกอบด้วย รศ.คณิต วัฒนวิเชียร พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ และนายสมศักดิ์ ประถมศรีเมฆ ผมทราบว่าต่อมาทั้ง 3 คน ได้รับโทรศัพท์จากผู้บริหาร ขสมก.คนหนึ่งอ้างว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคมสั่งให้ลาออกด้วย ด้วยเหตุนี้ พล.ต.ต.ประสิทธิ์จึงลาออกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2561 ทำให้เหลือบอร์ด 2 คน ที่ไม่ยอมลาออก เพราะไม่เชื่อว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคมจะสั่งการเช่นนั้น และเห็นว่ายังไม่ครบวาระ
เมื่อบอร์ด 2 คน ไม่ยอมลาออก ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าในคำสั่งแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่จึงต้องมีการปลดบอร์ดที่ไม่ยอมลาออกให้พ้นจากตำแหน่งก่อน แล้วจึงแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ขึ้นมา
เมื่อดูรายชื่อบอร์ดชุดใหม่ พบว่ามีบอร์ดชุดเดิม 4 คน ที่ไม่ได้รับแต่งตั้งเข้ามาใหม่ ประกอบด้วย รศ.คณิต วัฒนวิเชียร พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ นายสมศักดิ์ ประถมศรีเมฆ และ รศ.พัชรา พัชราวนิช ทั้ง 4 คนนี้มีปัญหาอะไรจึงไม่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาใหม่ เป็นไปตามกระแสข่าวที่ออกมาพร้อมๆ กับการลาออกของนายณัฐชาติหรือไม่ ที่ว่าจะไม่แต่งตั้งคนที่ถูกมองว่ามีปัญหาเข้ามาอีก
จากการตรวจสอบพบว่า บอร์ดทั้ง 4 คนดังกล่าวเป็นผู้ที่ไปให้ถ้อยคำในฐานะพยานตามหมายเรียกของศาลปกครองกลางในคดีจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ทั้งนี้ ศาลได้มีหมายเรียกให้บอร์ดทุกคนไปให้ถ้อยคำ แต่บอร์ดอีก 6 คน ไม่ยอมไป
การให้ถ้อยคำของบอร์ดทั้ง 4 คน ต่อศาลมีสาระสำคัญซึ่งชี้ให้เห็นว่าต้องการปกป้องผลประโยชน์ของ ขสมก. หรือของประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยในการประชุมบอร์ด ขสมก. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญากับบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล บอร์ดทั้ง 4 คน ได้พยายามสอบถามประเด็นข้อสงสัยต่างๆ นานาจากผู้บริหาร ขสมก. เช่น (1) ทำไมจึงให้เวลาเตรียมเอกสารการประมูลสั้นมาก ทั้งๆ ที่มีเอกสารมากมาย หากบริษัทใดไม่ได้รับข้อมูลภายในล่วงหน้ามาก่อนก็จะไม่สามารถเตรียมเอกสารได้ทันแน่ (2) ช.ทวี ร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคาสูงกว่าราคากลางถึง 240 ล้านบาท โดยเสนอราคาประมาณ 4,260 ล้านบาท ในขณะที่ ขสมก.กำหนดราคากลางไว้ประมาณ 4,020 ล้านบาท และสูงกว่าราคาที่เคยเสนอไว้เดิมในปี พ.ศ.2558 ถึง 460 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ เวลาผ่านมาเพียง 2 ปีเศษเท่านั้น ที่สำคัญ ในช่วงเวลาดังกล่าวค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นประมาณ 6% ดังนั้น ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์จะต้องเสนอราคาต่ำกว่าเดิม และ (3) ที่มาของราคากลางไม่ถูกต้อง เพราะ ขสมก.สอบถามมาจาก ช.ทวี เท่านั้นว่าเคยขายรถรุ่นเดียวกันให้ใครมาบ้าง พบว่า ช.ทวีเคยขายให้บริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด (มหาชน) จำนวนเพียง 40 คัน ในราคา 4 ล้านบาทต่อคัน เพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท มารัตน์ฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 4 ของ ช.ทวี ด้วยเหตุนี้ ศาลปกครองกลางจึงได้ระบุไว้ในคำพิพากษาว่า “เป็นธุรกรรมซื้อขายรถยนต์รุ่นนี้ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกันที่ไม่ควรใช้เป็นราคาอ้างอิง”
เมื่อบอร์ดทั้ง 4 คน ไม่ได้รับการชี้แจงให้กระจ่างด้วยเหตุและผล ทำให้ในการประชุมบอร์ด ขสมก. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 มีบอร์ด 3 คน ไม่รับรองบันทึกการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ที่อ้างว่าบอร์ดมีมติให้ ขสมก.เซ็นสัญญากับ ช.ทวี ร่วมกับสแกนอินเตอร์ ทั้งนี้ มีบอร์ดอีก 1 คน คือ รศ.พัชรา ได้งดออกเสียง ในขณะที่มีบอร์ดที่รับรองบันทึกการประชุมเพียง 2 คนเท่านั้น จากบอร์ดทั้งหมดที่เข้าประชุมจำนวน 6 คน
ด้วยเหตุนี้ ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ให้ทุเลาการบังคับตามมติของบอร์ด ขสมก. ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 และ 20 ธันวาคม 2560 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นั่นหมายความว่าบอร์ด ขสมก.ไม่มีมติให้ ขสมก.ทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ ดังนั้น สัญญาที่ทำไว้แล้วนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
น่าเสียดายที่กระทรวงคมนาคมไม่แต่งตั้งบอร์ดที่มีความเห็นต่างหรือบอร์ดที่มุ่งหวังจะรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมเข้ามาใหม่ ซึ่งอาจทำให้บอร์ด ขสมก.ชุดใหม่ขาดคนที่คอยทักท้วงหรือชี้แนะเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน การพิจารณาอนุมัติโครงการใดโครงการหนึ่ง ถ้าบอร์ดทุกคนเห็นด้วย ไม่มีใครทักท้วง อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงขึ้นก็ได้
น่าเสียดายที่ รมว.คมนาคม ไม่ตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ และเหตุใดบอร์ดทั้ง 4 คน จึงได้ทักท้วง ซึ่งจะทำให้รู้ว่าบอร์ดทั้ง 4 คน ทักท้วงด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่
ทั้งหมดนี้ ผมไม่อยากให้ รมว.คมนาคมถูกกล่าวหาว่า การล้างบอร์ด ขสมก.ครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อขจัดบอร์ดที่ไม่เห็นด้วยกับความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน เท่านั้นเอง
ผมเป็นห่วงท่านครับ”
https://developers.facebook.com/docs/plugins/embedded-posts/?prefill_href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2FDr.Samart%2Fposts%2F1314358622042371#code-generator