หน้าแรกการเมือง'พิชัย' แนะ 'บิ๊กตู่' วิธีแก้น้ำมันแพง อัด 'ปตท.' เลิกเอาเปรียบ-อย่าบิดเบือนข้อมูลพลังงาน

‘พิชัย’ แนะ ‘บิ๊กตู่’ วิธีแก้น้ำมันแพง อัด ‘ปตท.’ เลิกเอาเปรียบ-อย่าบิดเบือนข้อมูลพลังงาน

นายพิชัย นริพทะพันธ์ุ แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในภาวะที่ราคาน้ำมันและก๊าซเพิ่มสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในวงกว้างจึงเป็นโอกาสที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะได้ใช้โอกาสนี้แก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งได้พยายามจะทำแต่ทำยังไม่สำเร็จ โดยขอเสนอดังนี้

1. ปรับราคาเอทานอล ที่ผสมในน้ำมันก๊าซโซฮอลล์ และ ราคาน้ำมันปาล์มที่ผสมใน ไบโอดีเซล ให้ลดลงมาอยู่ในราคาตลาด โดยถึงแม้ตนจะเป็นคนยกเลิกเบนซิน 91 เพื่อให้ประเทศมีการใช้เอทานอลมากขึ้น จากวันละ ล้านกว่าลิตร เป็นวันละ 3 ล้านกว่าลิตร แต่ ปัจจุบันราคาเอทานอลยังสูงมาก จึงควรมีการปรับราคาให้ต่ำลงเท่ากับราคาตลาด ในอดีตกำลังผลิตอาจจะถูกใช้ไม่เต็มที่เพราะมีการใช้น้อย แต่ปัจจุบันมีการใช้การผลิตเต็มที่แล้ว ราคาจึงควรถูกปรับลงมาได้ และราคาน้ำมันปาล์มที่ผสมในไบโอดีเซลก็ควรต้องปรับลดลงมาในราคาตลาดเช่นกัน จะทำให้ลดราคาน้ำมันทั้งก๊าซโซฮอลล์ และ ไบโอดีเซล ลงมาได้พอควร ไม่อยากให้อาศัยช่องว่างที่ส่วนผสมเอทานอล และน้ำมันปาล์ม ในน้ำมันที่ไม่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตน้ำมันมาโก่งราคาวัตถุดิบ และเอาเปรียบประชาชน ซึ่งไม่แน่ใจว่าผลประโยชน์ดังกล่าวตกอยู่กับใคร

2. การปรับราคาหน้าโรงกลั่นให้แค่เท่าสิงคโปร์ แต่ไม่ต้องรวมค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทย ปัจจุบันราคาหน้าโรงกลั่นจะเท่ากับราคาหน้าโรงกลั่นรวมค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทย ซึ่งไม่สมเหตุสมผล เพราะนำ้มันถูกกลั่นในประเทศจะไปเพิ่มค่าขนส่งจากสิงคโปร์ทำไม เรื่องนี้เป็นการเอาเปรียบประชาชนอย่างมาก และปัจจุบันค่าการกลั่นก็ทำกำไรให้โรงกลั่นมากอยู่แล้ว

3. การลดค่าการตลาด ค่าการตลาดควรจะเป็นเฉพาะส่วนที่เป็นของสถานีบริการเท่านั้น เพราะบริษัทและโรงกลั่นมีกำไรจากส่วนอื่นแล้ว

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลนั้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาข้อมูลในอดีต โดยในปี 2554-2556 มีการเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลเพียงลิตรละ 0.005 บาท หรือเกือบจะไม่ได้เก็บเลย แต่พอราคาน้ำมันในตลาดโลกราคาลดลง รัฐบาลก็เริ่มเก็บภาษีสรรพสามิตมากขึ้น วันที่ 28 สิงหาคม 2557 เก็บเพิ่มเป็น 0.75 บาทต่อลิตร วันที่ 16 ธันวาคม 2557 เก็บเพิ่มเป็น 3.25 บาทต่อลิตร วันที่ 10 มีนาคม 2558 เก็บเพิ่มเป็น 4.25 บาทต่อลิตร วันที่ 29 ธันวาคม 2558 เก็บเพิ่มเป็น 4.95 บาทต่อลิตร วันที่ 22 มีนาคม 2449 เก็บเพิ่มเป็น 5.35 บาทต่อลิตร และวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 เก็บเพิ่มเป็น 5.85 บาทต่อลิตร จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น รัฐบาลจึงควรลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง แม้รัฐจะต้องขาดรายได้บ้าง แต่ก็เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังลำบากกันอย่างมากจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตามที่ได้เคยเสนอไปแล้ว

“ทั้งนี้ บมจ. ปตท. เองก็จะต้องแสดงความจริงใจในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่อาจเห็นว่า บมจ. ปตท. เอาเปรียบ และ มีกำไรมาก โดยทุกครั้งที่มีความพยายามให้ บมจ. เสียสละ ก็จะอ้างว่า เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น แต่เวลาจะได้ประโยชน์ก็จะอ้างว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือเกินครึ่งและต้องได้รับการดูแลจากรัฐ ซึ่งดูเหมือนเป็นการเอาเปรียบและเอาแต่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวด้วยว่า อีกทั้งการที่ บมจ. ปตท. ใช้เงินปีละ หลายพันล้านบาทในการทำ CSR แต่ประชาชนกลับไม่ได้มีภาพพจน์ที่ดีกับ บมจ. ปตท. เลย ดังนั้น น่าจะเอาเงินหลายพันล้านบาทดังกล่าว มาลดราคาพลังงานให้กับประชาชนจะดีกว่าหรือไม่ เพราะน่าจะสร้างภาพลักษณ์ให้ดีกว่าการจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อทำ CSR ที่ไม่ได้ผล นอกจากนี้ บมจ. ปตท. เองจะต้องเคลียร์ข้อกล่าวหาในคดีทุจริตคอรัปชั่น และ ความไม่โปร่งใสในอดีต ที่ได้เคยเสนอให้รีบจัดการตั้งแต่วันแรกที่ตนเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งมีเรื่อง สวนปาล์มในอินโดนิเซีย ที่มีความเสียหายเป็นหมื่นล้านบาท พร้อมกับ ข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่นอย่างมากมาย และอาจจะพัวพันถึงผู้บริหารระดับสูง และ คดีก็อยู่กับ ปปช. แล้ว อีกทั้ง โครงการออยล์แซนด์ที่ขาดทุนมโหฬารและต้องปิดดำเนินการ เพราะไปลงทุนในน้ำมันที่มีต้นทุนการผลิตสูงมาก และโครงการเดินท่อก๊าซอียิปต์ อิสราเอล ที่ไม่ควรลงทุนแต่แรก เพราะความเสี่ยงทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ

“ซึ่งเรื่องเหล่านี้เชื่อว่าจะต้องมีคนได้รับผลประโยชน์ และยังคาใจประชาชนส่วนใหญ่ และ บมจ. ปตท. ควรต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้โปร่งใส” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า นี่เป็นเพียงบางส่วนของข้อแนะนำ ซึ่งหากทำได้ก็จะช่วยลดราคาพลังงานได้มาก และอยากให้พลเอกประยุทธ์เปิดใจรับฟังเพื่อพิจารณา อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นสูงนี้ ไม่อยากให้ มีการบิดเบือนข้อมูลทางพลังงาน ซึ่งหากประชาชนเข้าใจผิด ปัญหาพลังงานของประเทศจะยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันอธิบายและชี้แจงมากๆ เพราะอย่างไรประเทศไทยยังเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันและก๊าซสุทธิ การต้องควบคุมปริมาณการใช้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และการใช้สอยอย่างประหยัดยังมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวม


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img