หน้าแรกกระบวนการยุติธรรมกองปราบเปิดปฏิบัติทลายแก๊งจอมโจรโคตรปลอมยุค 4 จี จับสองแม่ลูก หลอกปั่นหัวเหยื่อทั้งครอบครัว ตุ๋นเงินกว่า 2 ล้าน

กองปราบเปิดปฏิบัติทลายแก๊งจอมโจรโคตรปลอมยุค 4 จี จับสองแม่ลูก หลอกปั่นหัวเหยื่อทั้งครอบครัว ตุ๋นเงินกว่า 2 ล้าน

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. พร้อมด้วย พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.3 บก.ป. และเจ้าหน้าที่ กก.3 บก.ป. และ ตัวแทนเจ้าหน้าที่จาก บก.ปอท. ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการล่า “คริส” (The Scammer) จอมโจรโคตรปลอม
ยุค 4G หลังเข้าตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 5 จุด ในพื้นที่ อ.หนองแค จ.สระบุรี จนสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 2 รายคือ น.ส.สุนันทินี สาเกทอง อายุ 33 ปี และ น.ส.รัชนี สกุลเอื้อ อายุ 63 ปี ตามหมายจับศาลอาญาธนบุรีที่ จ.343 และ จ.344 /2564 ตามลำดับ ลงวันที่ 16 ก.ค. 2564 ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกง โดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น” พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือ จำนวน 4 เครื่อง, แท็บเล็ต จำนวน 1 เครื่อง, คอมพิวเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง, สมุดบัญชี จำนวน 1 เล่ม, บัตรเอทีเอ็ม จำนวน 1 ใบ และเอกสาร ซึ่งน่าเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ได้มีผู้เสียหายเข้ามาร้องขอความเป็นธรรมหลังถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงเอาเงินด้วยการสร้างเรื่องราวอันเป็นเท็จ โดยการใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี และโซเชี่ยลมีเดีย ตัดต่อข้อความ ไฟล์เสียง แอบอ้างตนเป็นบุคคลใกล้ชิดข้าราชการในหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน ปลอมแปลงเอกสารราชการ เอกสารสำคัญ ปลอมแปลงภาพ ข้อความ และ ข้อความเสียง เพื่อความสมจริงและสร้างความน่าเชื่อถือ จนทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ ส่งมอบทรัพย์สินให้คนร้ายจำนวนหลายครั้ง รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2,690,000 บาท

พ.ต.อ.วิวัฒน์ กล่าวว่า หลังทราบเรื่องจึงนำกำลังลงพื้นที่สืบสวน จนทราบว่ามีการทำเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำงานชัดเจน โดยเริ่มแรกจะสร้างตัวตนปลอมในโซเชี่ยลมีเดีย ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Chrysilla Celandina Celia นำภาพดาราชาวต่างชาติหน้าตาดีมาแอบอ้างตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ สร้างเรื่องราวว่าตนเองมีฐานะร่ำรวย ประกอบอาชีพเป็นนางแบบ อาศัยอยู่ต่างประเทศ มีความสนิทสนมกับข้าราชการตำรวจระดับผู้บัญชาการ เป็นหลานของนักธุรกิจยานยนต์ย่านสาทร เป็นเพื่อนกับพนักงานอัยการ และ รู้จักกับทนายความชื่อดัง จนกระทั่งมีผู้ติดตามตัวตนปลอมในโซเชี่ยลมีเดียของผู้ต้องหากว่า 20,000 คน

พ.ต.อ.วิวัฒน์ กล่าวต่อว่า หลังจากสร้างตัวตนปลอมในโลกออนไลน์แล้ว ก็จะทำการหาเหยื่อผ่านแอพพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ โดยจะเลือกเหยื่อจากครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ เมื่อสามารถสานสัมพันธ์กับเหยื่อได้แล้ว ก็จะแชทพูดคุยกันก่อนยุยง ปลุกปั่น สร้างเรื่องราว ปลอมแปลงแชท ตัดต่อคลิปเสียง เพื่อหลอกลวงคนในครอบครัวผู้เสียหายเกิดความบาดหมาง หวาดระแวงกันเอง สร้างกับดักหัวใจให้กับคนในครอบครัวเพื่อที่ว่าผู้ต้องหาจะได้ทราบความเคลื่อนไหวของทุกคนในครอบครัว เมื่อกลุ่มมิจฉาชีพทราบว่า พ่อของผู้เสียหายนำรถยนต์ไปใช้ข้างนอกยังไม่กลับบ้าน จึงออกอุบายเป่าหูเหยื่อสร้างเรื่องหลอกลวงว่า รถถูกนำไปจำนำในตลาดมืด แต่ตนเองสามารถไถ่ถอนรถคืนมาได้ พร้อมกับส่งภาพเล่มทะเบียนรถ และเอกสารการจำนำรถที่จัดทำปลอมขึ้นส่งให้กับผู้เสียหายดู พร้อมกับพูดจาโน้มน้าว จนผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินค่าไถ่ถอนรถยนต์ เข้าบัญชีของผู้ต้องหาเป็นเงินกว่า 1,530,000 บาท

พ.ต.อ.วิวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้สร้างเรื่องหลอกลวงว่าบิดาของผู้เสียหายติดการพนันอย่างหนัก และได้ออกอุบายให้นำเงินมาเก็บไว้ที่ผู้ต้องหา จนเหยื่อหลงเชื่อ โอนเงินเข้าบัญชีของผู้ต้องหาตามที่แนะนำ จำนวน 1,110,000 บาท นอกจากนี้ยังออกอุบายหลอกลวงเอาเงินของผู่เสียหายเพิ่มอีก โดยทำทีสร้างเรื่องใส่ความบิดาของผู้เสียหายว่าเป็นคนไม่ดี อ้างว่าได้ส่งของมีค่าและของแบรนด์เนมหลายชิ้น อาทิ นาฬิกาหรูมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท มาให้ผู้เสียหาย แต่ถูกบิดาของผู้เสียหายลักขโมยไปก่อนที่ผู้เสียหายจะได้รับ พร้อมทั้งอ้างว่าได้ไปแจ้งความตำรวจท้องที่ไว้แล้ว โดยนำเอกสารราชการที่ทำปลอมขึ้นมาหลายฉบับ เช่น บันทึกประจำวันการแจ้งความร้องทุกข์, เอกสารประกอบคดีต่างๆ,หมายจับ และ เอกสารราชการอื่นๆ ส่งให้กับทางผู้เสียหายดูเพื่อให้สมจริง เพื่อจะข่มขู่เรียกเงินค่าเคลียร์คดีจำนวน 9 แสนบาท รวมถึงยังมีการแอบอ้างว่ามีความสนิทสนมกับข้าราชการตำรวจระดับสูง ปลอมแปลงข้อความเสียงที่พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจนทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ โอนเงินให้ก่อนจำนวน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือผู้เสียหายได้ขอผ่อนชำระเป็นรายเดือน พร้อมกับทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 850,000 บาท ขึ้นมา

“หลังจากผู้เสียหายตกลงทำสัญญากู้เงินแล้ว ผู้ต้องหาได้ทำการปลอมเอกสารเอกสารราชการของศาลและอัยการ ทำทีว่าได้มีการฟ้องร้องผู้เสียหายต่อศาลแพ่ง ปลอมแปลงหมายเรียกและหมายจับของศาลขึ้นทั้งฉบับ ตัดต่อคลิปเสียง อ้างว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการติดตามจับกุมผู้เสียหายที่บริเวณหน้าบ้านพัก ปลอมเอกสารของบริษัทที่ผู้เสียหายทำงานอยู่ โดยแอบอ้างว่าจะมีเจ้าหน้าที่จะเข้ามาติดตามจับกุมผู้เสียหายภายในที่ทำงาน จนเป็นเหตุให้ครอบครัวของผู้เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง และได้รับความเสียหายถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว เนื่องจากผู้ต้องหาใช้อุบายหลอกลวงเอาเงินเก็บในวัยเกษียณของครอบครัวผู้เสียหายไปจนหมด” ผกก.3 บก.ป. กล่าว

พ.ต.อ.วิวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ด้วยพฤติการณ์เหล่านี้ถือเป็นภัยต่อสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนคนอื่นๆตกเป็นเหยื่อกลุ่มมิจฉาชีพกลุ่มนี้อีก จึงสนธิกำลังร่วมกับ บก.ปอท. และ สน.ภาษีเจริญสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน โดยใช้เวลานานร่วม 2 เดือน จึงสามารถสาวไปถึงตัวผู้กระทำผิดและนำไปสู่การเปิดปฏิบัติการตามล่าจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ซึ่งเป็นแม่ลูกกันได้ดังกล่าว ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบเคยมีประวัติถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อนในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง” ที่ สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อปี พ.ศ.2553 แต่สามารถหลบหนีการจับกุมจนกระทั่งหมายจับหมดอายุความในปี พ.ศ.2563 ก่อนจะมาก่อเหตุดังกล่าว เบื้องจากการสอบสวน ผู้ต้องหาทั้ง 2 คนยังคงให้การปฏิเสธ แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อจึงนำตัวส่ง สน.ภาษีเจริญ ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบพยานหลักฐานต่างที่ตรวจยึดได้ พบว่า ผู้ต้องหาได้มีการตัดต่อรูปภาพของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการ และหน่วยงานราชการอื่นๆ ไว้ด้วยกันหลายรูปภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีรูปภาพของ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. ที่ถูกตัดต่อขึ้นมาทำให้ดูเหมือนว่ารู้จักกัน จึงน่าเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาอาจมีการใช้ภาพตัดต่อดังกล่าวเหล่านี้ แอบอ้างสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตนเองเพื่อใช้ในการหลอกลวงเหยื่อ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเปิดบัญชีแอพลิเคชั่นไลน์ เฟซบุ๊ก และแอพลิเคชั่นหาคู่ แชทพูดคุยกับเหยื่อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกว่า 100 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ทำการตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดต่อไป

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img