หน้าแรกการเมือง'อ.เดชรัต' แนะ กองทัพ เลิกเกณฑ์ทหาร หันมาพัฒนาทหารกองหนุน ให้มีสมรรถภาพเพิ่มขึ้น

‘อ.เดชรัต’ แนะ กองทัพ เลิกเกณฑ์ทหาร หันมาพัฒนาทหารกองหนุน ให้มีสมรรถภาพเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (19 เม.ย) ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘Decharut Sukkumnoed‘ ว่าด้วยการเกณฑ์ทหารและทหารกองหนุน โดยระบุว่า “ก่อนอื่น บอกก่อนเลยว่า แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ผมก็ไม่ได้เกลียดทหาร เพราะฉะนั้น โพสต์ทัศนะนี้ ไม่ได้มีขึ้นเพื่อโจมตีทหารแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ในช่วงท้ายที่ผมกล่าวถึงทหารกองหนุนนะครับ

มาเริ่มกันที่การเกณฑ์ทหาร

ปีที่ผ่านมา กองทัพเกณฑ์ทหารไป 100,000 ราย (ย้ำตัวเลขหนึ่งแสนราย) แต่ละรายกองทัพบอกว่าจะได้เงิน/สวัสดิการ 10,000 บาท/เดือน นั้นแปลว่า หากคิดคร่าวๆ แต่ละปี เราจะต้องใช้งบประมาณสำหรับการเกณฑ์ทหารประมาณ 12,000,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นสองพันล้านบาทต่อปี)

งบประมาณก้อนนี้ไม่ใช่น้อย สามารถนำไปพัฒนากองทัพในด้านอื่นๆ ได้มากทีเดียว

พัฒนากองทัพอย่างไร? ผมมีความเห็นสอดคล้องกับหัวหน้าพรรคเกรียนของผมว่า ในอนาคตรูปแบบสงคราม (ถ้ามี) จะไม่ใช่การรบที่ใช้ไพร่พลขนานใหญ่ แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีทำลายจุดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ แบบสงครามในซีเรียมากกว่า

ดังนั้น แทนที่เราจะเอางบประมาณมาฝึกทหารเกณฑ์ได้ 100,000 ราย และอยู่กับกองทัพเพียง 2 ปี แล้วปลดประจำการ ผมว่า เรานำเงินไปจ้างทหารมืออาชีพประจำการ ที่ได้ฝึกกันอย่างต่อเนื่อง (มีเงินเดือนอย่างน้อยสัก 20,000 บาท/เดือน) สัก 3-40,000 คน จะดีกว่ามั้ย

ส่วนทหารกองหนุนหากว่าจะเผื่อสงครามขนานใหญ่ ผมเสนอให้ปรับรูปแบบการฝึกจะดีกว่า เพราะปัจจุบัน แต่ละปี กองทัพจะเรียกทหารกองหนุน 2.5% มาฝึกเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี หลังจากจบ ร.ด. ผมไม่เคยถูกเรียกเลย

อยากโดนเรียกมั้ย? ถ้าต้องไปทีละ 2 เดือน ผมบอกเลย ไม่อาย ว่าผมไม่อยากไป มันเสียการเสียงานของผม (ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้างเช่นกัน)

แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นฝึกครั้งละหนึ่งสัปดาห์ โดยมีหัวข้อการฝึกที่ชัดเจน บอกเลยว่า ผมจะสมัครเป็นประจำ ปีละหนึ่งสัปดาห์

ตัวอย่างคอร์สการฝึกทหารกองหนุนที่ผมสนใจจะสมัครแน่นอน ได้แก่

(ก) การบัญชาการเหตุการณ์ภัยพิบัติ/การก่อการร้าย
(ข) การปฐมพยาบาลภาคสนามในยามภัยพิบัติ/ก่อการร้าย
(ค) การเสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย
(ง) การสร้างระบบเหมืองฝายเพื่อชีวิต
(จ) การบริหารการส่งกำลังบำรุง
(ฉ) การประกอบอาหารในยามวิกฤต
(ช) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
(ซ) การบังคับโดรนในยามสันติ และในยามสงคราม

ฯลฯ (บอกแล้วว่าน่าสนใจจริงๆ)

ซึ่งนอกจาก กองทัพจะเปิดให้ทหารกองหนุนแต่ละคนสมัครเข้าร่วมเองแล้ว กองทัพยังควรเชิญชวนทหารกองหนุนแบบเป็นทีม เช่น การสร้างทีมอาสาสมัครป้องกันภัยของ อบต. (อบต.ละ 20 คน) หรือทีมส่งกำลังบำรุงของบริษัท เป็นต้น ซึ่งการฝึกเป็นทีมจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้งานจริงในพื้นที่หรือในองค์กร เพราะมีคนที่รู้งานอยู่ร่วมกันเป็นทีม

ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพยังควรเปิดให้ทหารกองหนุนเข้ามาช่วยกองทัพ ในรูปแบบของ “การเปิดโจทย์” ให้ทหารกองหนุนมาช่วยปรับปรุงงานของกองทัพ เช่น การจัดระบบการซ่อมบำรุงแบบ Total Productive Management หรือการใช้แบบจำลองสมัยใหม่ในการวางแผนส่งกำลังบำรุงของหน่วยรบ หรือระบบการดูแลสุขภาพของกำลังพล หรือแม้กระทั่ง การเข้าใจวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในอาเซียน

ผมว่าถ้าทำแบบนี้ได้ เราจะมีทหารกองหนุนที่แอคทีฟ และเราสามารถเปิดรับคนไทยทุกคนเป็นทหารกองหนุนที่เวียนกันเข้ามาฝึกได้ทุกปี แทนที่จะต้องเกณฑ์ทหารให้บางคนเดือดร้อนไป 2 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี

หากข้อเสนอทั้งหมดที่ผมกล่าวมายังไม่เหมาะสม ก็ชี้แนะได้เต็มที่นะครับ แต่ผมอยากย้ำว่า ทั้งหมดที่ผมพยายามนำเสนอ ก็เพื่อให้กำลังพลและทหารกองหนุนมีสมรรถภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่ารูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

รักทหาร ต่อต้านการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ”

[fb_pe url=”https://www.facebook.com/decharut.sukkumnoed/posts/1691595910932353″ bottom=”30″]


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img