วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 34/2564 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนัก ผู้แทน กอ.รมน.กทม. ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้แล้วหลายคลัสเตอร์
สำนักอนามัย ได้รายงานสถานการณ์การณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อน (Cluster: คลัสเตอร์) ทั้งสิ้น 43 คลัสเตอร์ โดยมีไซต์งานก่อสร้างอาคารรัฐสภาเกียกกายเป็นคลัสเตอร์ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พ.ค. 64) มียอดผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 500 คน มีที่พักคนงาน (แคมป์) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ขณะนี้ได้สั่งปิดไซต์งานดังกล่าวแล้ว โดยศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 38 ดุสิต สำนักงานเขตดุสิต และกองควบคุมโรค สำนักอนามัย อยู่ระหว่างลงพื้นที่สอบสวนโรคเพิ่มเติมเพื่อติดตามบริษัทที่เข้ามาทำงานในไซต์งานทั้งหมด อย่างไรก็ดี แม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีการแพร่ระบาดหลายคลัสเตอร์ แต่กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานความร่วมมือควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด โดยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว รวม 10 คลัสเตอร์ เช่น แคมป์คนงานก่อสร้าง ในพื้นที่เขตวัฒนา บริษัทประกันลาดปลาเค้า เขตลาดพร้าว บริษัทขายตรงตึกเอ็มไพร์ เขตสาทร ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ตลาดบุญเรือง เขตประเวศ เป็นต้น
เร่งตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน 250 ชุมชน
กรุงเทพมหานคร กำหนดดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในชุมชน (sentinel Surveillance) เชิงรุก ระหว่างวันที่ 27 พ.ค. – 5 มิ.ย. 64 ดังนี้ วันที่ 27 พ.ค. 64 เขตดินแดง คลองเตย ห้วยขวาง บางเขน จตุจักร, วันที่ 28 พ.ค. 64 บางแค ลาดพร้าว วัฒนา วังทองหลาง ปทุมวัน, วันที่ 29 พ.ค. 64 บางกะปิ สวนหลวง จอมทอง ราชเทวี ธนบุรี, วันที่ 30 พ.ค. 64 ภาษีเจริญ ดุสิต สายไหม ยานนาวา สาทร, วันที่ 31 พ.ค. 64 บางกอกน้อย ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางขุนเทียน บึงกุ่ม พญาไท
วันที่ 1 มิ.ย. 64 บางซื่อ คลองสาน บางพลัด บางคอแหลม คลองสามวา, วันที่ 2 มิ.ย. 64 ราษฎร์บูรณะ ประเวศ ดอนเมือง หนองแขม ตลิ่งชัน, วันที่ 3 มิ.ย. 64 คันนายาว หลักสี่ บางกอกใหญ่ ทุ่งครุ บางนา, วันที่ 4 มิ.ย. 64 ทวีวัฒนา พระนคร พระโขนง ลาดกระบัง มีนบุรี และ วันที่ 5 มิ.ย. 64 บางรัก บางบอน สะพานสูง สัมพันธวงศ์ หนองจอก โดยจะสุ่มตรวจหาเชื้อในน้ำลายประชาชนในชุมชนต่างๆ เป้าหมายเขตละ 5 ชุมชน ชุมชนละ 300 ราย รวมจำนวน 250 ชุมชน 15,000 ราย สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกชุมชนในพื้นที่เขต เช่น เป็นชุมชนที่มีผู้ป่วยตั้งแต่ 1 เม.ย. 64 เป็นต้นมา หรือเป็นชุมชนที่มีทั้งคนไทยและคนต่างด้าวที่พักอาศัยในชุมชน ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ครอบคลุมในชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ตลอดจนเฝ้าระวังแนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และตรวจจับการระบาดได้ทันท่วงที
คุมเข้มไซต์งานก่อสร้างและแคมป์คนงาน
ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในไซต์งานก่อสร้างและที่พักคนงานก่อสร้าง (แคมป์คนงาน) โดยมอบสำนักการโยธาประสานขอความร่วมมือบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งวันนี้(25 พ.ค. 64) สำนักการโยธาได้เชิญบริษัทก่อสร้างร่วมประชุม โดยนายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ชี้แจงถึงมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตามที่กรุงเทพมหานครกำหนด เช่น ไม่ใช้ของใช้ร่วมกันโดยเฉพาะขอให้งดน้ำดื่มแก้วเดียวกัน การรักษาระยะห่างระหว่างการทำงาน การสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะทำงาน เป็นต้น ที่ประชุมจึงกำชับให้สำนักงานเขตสำรวจและกำกับดูแลให้ไซต์งานก่อสร้างรวมทั้งแคมป์คนงานในพื้นที่ ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ขอให้รายงานไปยังสำนักการโยธาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
สำรวจและเพิ่มการเฝ้าระวังกลุ่มผู้สูงอายุเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยง และมีแนวโน้มเป็นอันตรายรุนแรงหากได้รับเชื้อโควิด-19 ที่ประชุมจึงขอให้สำนักงานเขตสำรวจตรวจสอบบ้านพักหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยให้คำแนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อาทิ ตรวจสอบความแออัดการพักอาศัย การจัดให้มีจุดล้างมือน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์ล้างมืออย่างพอเพียง การตรวจคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปยังสถานที่ดังกล่าว รวมทั้งให้ตรวจสอบสุขลักษณะอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ความสะอาดของพื้นที่ การถ่ายเทอากาศ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต