วันนี้ (17 พ.ค. 64) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่าจากกรณีที่ผ่านมา ยังคงมีข่าวการแพร่ระบาดเชื้อโควิดอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของศาลยุติธรรมก็มีขั้นตอนดำเนินการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วย นั้น ประกอบกับล่าสุดมีกรณีที่ศาลอาญาเลื่อนนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ หรือระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในส่วนของนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน อายุ 30 ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ ตาม ป.อาญา ม.112 ซึ่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 28 เมษายน 2564 ขอให้งดเบิกตัวผู้ต้องขังแม้โดยระบบการสื่อสารผ่านทางไกลเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาในพื้นที่เรือนจำ จึงไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องหาได้ โดยศาลอาญาเลื่อนไปนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก็เป็นการปฏิบัติตามแนวทางมาตรการลดการคุมขังและการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
โดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ออกหนังสือเวียน ถึงหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม เน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการลดการคุมขังและการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฯ และคำแนะนำของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการ
ปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2562 โดยการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาคดี (ทุกชั้นศาล) และผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่เคยถูกคุมขังคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด ในสถานที่คุมขัง และเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือภัยอันตราย โดยพึงใช้วิธีกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมาใช้เพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นระหว่างนี้ และเมื่อใช้มาตรการดังกล่าวแล้วสามารถผ่อนคลายการเรียกหลักประกันลงได้ โดยวิธีดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในศาลสูงสำหรับจำเลยที่ไม่เคยถูกคุมขัง ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลล่างได้ด้วย
ทั้งนี้ หากศาลกำหนดเงื่อนไขให้แก่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวต้องรายงานตัวเป็นระยะ ๆ อาจใช้วิธีรายงานตัวทางโทรศัพท์หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หากจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาชองศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มาก่อน ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง และในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลย ที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไข เช่น มีคำสั่งกำกับดูแลผู้ต้องหาหรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) จำกัดการเดินทางของผู้ต้องหา เป็นต้น
สำหรับการพิจารณาคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในกรณีที่สถานที่คุมขังแห่งใดมีมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังเพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาดเชื้อโรคให้อยู่ในพื้นที่ที่ทางสถานที่คุมขังกำหนดทำให้ไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องขังมาศาล หรือดำเนินการในลักษณะการประชุมทางจอภาพผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การสอบถามผู้ต้องหาว่าจะคัดค้าน การฝากขังหรือไม่อาจดำเนินการโดยส่งสำเนาคำร้องขอฝากขังไปยังสถานที่คุมขังเพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานที่คุมขังแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบและลงชื่อคัดค้านหรือไม่คัดค้านการฝากขัง หากผู้ต้องหาคัดค้านให้สถานที่คุมขังแจ้งให้ศาลทราบโดยเร็วเพื่อเรียกไต่สวนผู้ร้องถึงเหตุจำเป็นในการฝากขังต่อไป
ส่วนการอ่านคำพิพากษา กรณีจำเลยทุกคนในคดีได้รับการปล่อยชั่วคราว ให้เลื่อนการอ่าน คำพิพากษาและแจ้งให้คู่ความทราบ เว้นแต่คู่ความแจ้งให้ศาลทราบว่าประสงค์จะฟังคำพิพากษาตามกำหนดเดิม ก็ให้อ่านคำพิพากษาไปได้ โดยกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ส่วนกรณีจำเลยบางคนหรือทุกคนในคดีถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ให้อ่านคำพิพากษาตามกำหนดนัดเดิมโดยผ่านระบบการประชุมทางจอภาพผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติที่ประธานศาลฎีกา ท่านก่อนและท่านปัจจุบันได้วางไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดระลอกนี้แล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมนำมาเน้นย้ำเพราะเป็นแนวทางที่สอดคล้องต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดยังลุกลามไปมากจะสังเกตเห็นได้ว่ายังมียอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนหลักพันทุกวัน การนำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดนำมาปฏิบัติใช้นั้น เพื่อความปลอดภัยสำหรับประชาชน ผู้ต้องขัง และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และทั้งช่วยลดความเสี่ยงและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอีกด้วย