(21 ม.ค.64) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) : ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2564 ซึ่งที่ประชุมในวันนี้ได้พิจารณามาตรการผ่อนปรนการเปิดสถานที่ที่ถูกสั่งปิดตามประกาศกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 15 และฉบับที่ 16

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า หลังจากที่กรุงเทพมหานครได้ออกมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการระบาดระลอกใหม่ ใช้เวลา 1 เดือนในการควบคุมการแพร่ระบาดทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการของกรุงเทพมหานครเป็นอย่างดี สำหรับการประชุมในวันนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้ผ่อนปรน โดยสามารถเปิดสถานประกอบการ 13 ประเภทได้ตั้งแต่พรุ่งนี้ (22 ม.ค.64) เป็นต้นไป ดังนี้ 1. สถานที่เล่นตู้เกม 2. ร้านเกมและร้านอินเตอร์เน็ต 3. สถานดูแลผู้สูงอายุ 4. สนามที่แข่งขันทั่วประเทศ ยกเว้น สนามมวย สนามม้า 5. สถานที่ให้บริการจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน 6. สนามพระเครื่อง ศูนย์พระเครื่อง 7. สถานเสริมความงาม (ที่ไม่ใช่คลินิกเวชกรรม) สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย 8. สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส 9. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา นวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า (ไม่ใช่สถานที่อาบ อบ นวด) 10. สนามฝึกซ้อมมวย โรงยิม หรือค่ายมวย 11. สนามที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ต โรลเลอร์เบลด หรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 12. สถาบันลีลาศ หรือสอนลีลาศ 13. โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม)

นพ.วิชาญ กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมแนวโน้มผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานครลดลงสอดคล้องกับผู้ป่วยทั้งประเทศ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครสามารถรับมือกับปัญหาเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโรคให้เร็วที่สุด โดยมาตรการแรกคือการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อยุติการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และมาตรการการเฝ้าระวังเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันเฝ้าระวัง ค้นหาจุดเสี่ยง สำรวจสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว สุ่มตรวจน้ำลายในพื้นที่ 5 เขต ประกอบด้วย บางขุนเทียน หนองแขม บางบอน บางแค และจอมทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยจำนวนมาก รวมทั้งเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อพื้นที่อื่นด้วยบ ซึ่งในวันที่ 12 ก.พ.นี้จะตรวจครบทั้งหมด

สำหรับการเตรวจเชิงรุกในสถานที่เสี่ยง กรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งตรวจเชิงรุกฯ ไปแล้วกว่า 22,000 ราย อย่างไรก็ดีการระบาดของกรุงเทพมหานครเป็นการระบาดต่อเนื่องจากพื้นที่อื่น ทั้งจากตลาด สถานบันเทิง ด้วยลักษณะของประชาชนในเมืองหลวงที่มีการเคลื่อนย้ายประชาชนมากจึงพบการระบาดได้ประปราย แต่ยังไม่พบการระบาดใหญ่ที่เป็นวงกว้าง เช่น กรณีจังหวัดสมุทรสาคร

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกระบวนการสืบสวนโรค กรุงเทพมหานครจะเร่งสอบสวนโรคและเปิดเผยไทม์ไลน์ให้ได้ทุกรายและพยายามให้ได้เร็วที่สุด มากที่สุดเต็มที่ สำหรับของการสอบโอเนตกระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างหาข้อสรุป อย่างไรก็ดีหากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(ศบค.) มีคำสั่งให้ผ่อนปรนมาตรการเพิ่มเติม กรุงเทพมหานครพร้อมดำเนินการในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้กรณีที่ประชาชนเห็นว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงและประสงค์จะตรวจคัดกรอง ขอให้ทำแบบประเมินตนเองผ่านระบบ BKKCOVID-19 หากมีความเสี่ยงกรุงเทพมหานครจะให้เจ้าหน้าที่ติดต่อเพื่อนัดทำการตรวจอีกครั้ง ทั้งนี้กรุงเทพมหานครขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมกันเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อตนเองและคนที่รัก และกรุงเทพมหานครจะพยายามให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติโดยเร็วที่สุด