โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อพบปะพูดคุยกับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ และติดตามแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติที่ผ่านมา ซึ่งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพไทยในการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมครอบคลุมบก น้ำ อากาศ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภายในภูมิภาค รวมทั้งระหว่างภูมิภาคอีกด้วย โดยนายกรัฐมนตรีเน้นในที่ประชุมว่า “รัฐบาลจริงจังต่อการขับเคลื่อน EEC ต้องผลักดันให้เกิดการลงทุน วางแผนอนาคต สร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคตให้เกิดขึ้นได้จริง”
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลจริงจังในการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการลงทุนในพื้นที่ EEC ทั้งในช่วงก่อน ระหว่างการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมทั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทุกหน่วยงานต้องเร่งสื่อสารและสร้างการรับรู้ ร่วมกันเดินหน้าตามแผนการลงทุน โดยเน้นความโปร่งใส สร้างความสมดุลในการลงทุนทั้งการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพพร้อมที่จะลงทุนเองหรือร่วมลงทุนกับต่างประเทศด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรียังเห็นว่า การพัฒนา คน สำคัญที่สุด ต้องยกระดับและปรับฝีมือแรงงาน เตรียมความพร้อมแรงงานเพื่อรองรับการลงทุนและความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งให้สอดคล้องกับอนาคตของประเทศ ซึ่งที่ประชุมยังได้รับทราบการเตรียมจัดมหกรรมจัดหางาน หรือ EEC Job and Skill Expo ในพื้นที่ EEC ในเร็ว ๆ นี้ด้วย
ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบเห็นชอบวาระสำคัญ ได้แก่ แนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ซึ่งประกอบด้วยโครงการท่าเรือบก (Dry port) ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ถึง 2 ล้านตู้สินค้า/ปี โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง Land Bridge) เพิ่มศักยภาพท่าเรือน้ำลึกทั้งสองแห่ง ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า และโครงการสะพานไทย เพื่อเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กับเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ SEC ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทั้งในเชิงการท่องเที่ยวและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้และท่าเรือแหลมฉบังด้วย
โดยที่ประชุมได้มีการเห็นชอบแต่งตั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานอนุกรรมการบริหารใน กพอ. รวมถึงแต่งตั้งนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพอ.ด้วย
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ฝากข้อคิดเห็นแก่ที่ประชุม โดยย้ำถึงการดูแลเกษตรกรและประชาชนที่อยู่รอบด้านและในพื้นที่ EEC สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การพัฒนา เพราะรัฐบาลต้องการเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยด้วย