นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเคาะให้เหลือร่างเดียวเพราะมีหลักการต่างกัน 1.คือร่างของพรรคเพื่อไทย 2.ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นการแก้ไขชุดใหญ่นั้น คือการให้มี สสร. และมีอีก 4 ฉบับที่เป็นการแก้รายมาตรา และอีกหนึ่งฉบับซึ่งเข้าใจว่า สภาต้องใช้เวลาตรวจสอบรายชื่อร่างของประชาชนอีก โดยตอนนี้มีทั้งหมด 6 ร่าง ซึ่งทั้งหมดสามารถพิจารณารวมกันได้ แต่เมื่อถึงเวลาลงมติต้องลงมติแยกกัน ฉบับไหนผ่านก็คือผ่าน ซึ่งจะต้องเป็นการลงคะแนนแบบเปิดเผยเรียกชื่อ ใช้เวลาฉบับละ 2 ชั่วโมง โดยการพิจารณาจะใช้เวลาที่ยาวนานมาก ดังนั้นจะต้องควบคุมเวลาให้ดี ขณะที่การตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้ เพราะมีร่างอยู่หลายฉบับ ถ้าสภาเห็นพ้องยังไม่ต้องรีบ ก็อาจจะต้องนำบางประเด็นไปศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่ใครๆก็ทำกัน

ทั้งนี้ในส่วนของข้อเรียกร้องการยุบสภาและให้รัฐบาลลาออกนั้น นายวิษณุ ถามว่ากลับว่า จะให้อะไรเกิดก่อนกัน เพราะหากทำบางข้อเรียกร้องไปก่อน ข้อเรียกร้องบางข้อก็ไม่สามารถทำได้ เช่น รัฐบาลลาออก รัฐสภาเดินต่อได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยที่ยังไม่เห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังนั้นจะต้องกลับไปใช้กระบวนการอย่างเดิมที่ทุกคนไม่พอใจ ส่วนข้อเรียกร้องยุบสภากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ล้มไป ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งใน 45-60 วัน

 

“วิษณุ”ปัดให้ความเห็นข้อกม.ทุกกรณีม็อบธรรมศาสตร์

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฎิเสธตอบข้อกฎหมาย กรณีการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา ของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ ว่า เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม เช่นเดียวกับท่าทีของพรรคฝ่ายค้านที่ได้มีการแสดงออกร่วมกับการชุมนุมด้วย รวมถึงไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาการปราศรัยบนเวทีในทุกกรณี

โดยระบุว่า ส่วนตัวทราบข้อเรียกร้องทั้งหมดผ่านสื่อที่ได้มีการยื่นไปยังองคมนตรีผ่าน พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแล้ว และไม่ทราบว่ามีข้อเรียกร้องมายังรัฐบาลหรือไม่ แต่ในบางเรื่องในข้อเรียกร้องก็มีความเป็นไปได้ อาทิ การหยุดคุกคามประชาชนเพราะรัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมายมาโดยตลอด จึงถือว่าไม่เป็นการคุกคามประชาชน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไม่สามารถชุมนุมและปราศรัยเช่นนี้ได้ เช่นเดียวกับประเด็น ข้อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการเข้าสู่กระบวนการสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ ตามกระบวนการซึ่งจะเร็วไปกว่านี้ไม่ได้ เนื่องจากต้องมีการออกเสียงประชามติ โดยจะต้องมีพระราชบัญญัติรองรับ ขณะนี้กฤษฎีกา ก็เร่งทำงานเพื่อตรวจร่างพระราชบัญญัติให้แล้วเสร็จ เพื่อที่จะส่งไปยังรัฐสภาให้ทันในสมัยการประชุมหน้าในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งการมี สสร. ผ่านสภาแล้ว ก็จะต้องหยุดนิ่งเอาไว้ก่อนและยังไม่สามารถนำไปสู่การทำประชามติได้เพราะจะต้องรอกฎหมายประชามติก่อน ขอให้เข้าใจกระบวนการ 2 กระบวนการคู่กัน คือกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำคู่กับสภา และกระบวนการออกกฎหมายประชามติซึ่งจะต้องทำในรัฐสภาเช่นกัน?นายวิษณุยังยืนยันว่า มีการประเมินวันเวลาการลงประชามติตามปฏิทินหลังกระบวนการเสร็จสิ้น