ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และภาคีเครือข่ายฯ กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้ออกมาตรการคุมเข้มปัญหาช่วงเทศกาลสงกรานต์ แก้ปัญหาขายเหล้าให้เด็กผิดกฎหมาย ปัญหาอุบัติเหตุเจ็บตายพิการจากรถจักรยานยนต์ ปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำ และมีจุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือในพื้นที่เล่นน้ำ
นางสาวเครือมาศ กล่าวว่า จากสถิติเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา2560 สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน เกิดอุบัติเหตุ3,690 ครั้ง เสียชีวิต390 ราย สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตสูงสุด3อันดับแรก ได้แก่ เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และทัศนวิสัยไม่ดี ประเภทรถที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงสุด3อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถกระบะ รถเก๋ง ถึงแม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงจากปี2559แต่ความรุนแรง และความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังสร้างผลกระทบทั้งทางชีวิตทรัพย์สิน เศรษฐกิจ และสังคม และยังสร้างความเสื่อมเสียจากพฤติกรรม การฉวยโอกาส การลวนลาม ในเทศกาลสงกรานต์ และที่น่าห่วงคือ สงกรานต์นี้เป็นเทศกาลดื่มและขายอย่างเสรี ทำให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมาย เช่น ขายเหล้าเบียร์ใหเด็กอายุต่ำกว่า20ปี รวมถึงคนเมาครองสติไม่ได้ อ้างอิงข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) ทดสอบให้เยาวชนอายุต่ำกว่า20ปี ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านค้า417ร้าน ใน4จังหวัด พบว่า ร้อยละ99 สามารถซื้อได้สำเร็จ สอดคล้องกับข้อมูลของเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ยังพบเห็นการใช้ให้เด็กอายุเพียง6ขวบ ไปซื้อเหล้าเบียร์ในร้านค้าได้
นางสาวเครือมาศ กล่าวว่า จากข้อห่วงใยของเครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ 1. บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่ม
แอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551มาตรา29 ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า20 ปี บริบูรณ์ เพราะจะส่งผลให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น และดำเนินการเอาผิดกับร้านค้า ผับ บาร์ ลานเบียร์ที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็ก 2.สกัดปัญหารถจักรยานยนต์ คนเมาแล้วขับ เพราะพฤติกรรมดื่มฉลองในเทศกาล การดื่มหนัก เป็นสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปเล่นน้ำในพื้นที่จัดงาน หรือถนนสายรอง ถนนตามหมู่บ้าน ควรมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ สุ่มตรวจจุดเสี่ยงหรือพฤติกรรมสี่ยง การไม่ให้เล่นน้ำหรือสาดน้ำขณะที่รถเคลื่อนที่ เพื่อลดอุบัติเหตุบาดเจ็บพิการและการเสียชีวิต 3.ปราบปรามการคุกคามทางเพศ ในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ลงตรวจจุดเสี่ยง หรือพื้นที่เสี่ยง และการมีจุดรับเรื่องร้องเรียน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ทันที
นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ทุกปี มักจะพบปัญหาจากการเล่นน้ำที่ไม่เหมาะสม คนบางกลุ่มมีพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายและก่อให้เกิดค่านิยมที่ผิดๆ เช่น ฉวยโอกาสคุกคามลวนลามทางเพศ ตั้งใจอนาจาร สาดน้ำด้วยความรุนแรง เล่นแป้ง ตั้งกลุ่มดื่มเหล้าจนเมา เสียงดังโวยวาย ทะเลาะวิวาท และรีดไถเงินจากประชาชน ดังนั้นจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมเข้ม มีมาตรการจัดการปัญหาให้ชัดเจน รวมถึง มีนโยบายพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ปลอดภัย ไม่คุกคามทางเพศ สำหรับคนทุกเพศทุกวัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกจังหวัด ช่วยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์อย่างมีสติ เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย สอดรับกับผลสำรวจสงกรานต์ปี59 ต่อความคิดเห็นผู้หญิงอายุระหว่าง10-40 ปี 1,793 คน พบว่า เกือบทั้งหมดหรือ85.9% เห็นว่าไม่ควรฉวยโอกาสลวนลามคุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์ และควรมีมาตรการการควบคุมป้องกันขณะที่กลุ่มตัวอย่าง51.9% ระบุเคยถูกฉวยโอกาสลวนลามคุกคามทางเพศ และถูกก่อกวนจากคนเมา บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยมี พล.ต.ต. มนตรี ยิ้มแย้ม รอง ผบช.น.รอง โฆษก ตร.เป็นผู้แทน ตร.ในการรับหนังสือจาก น.ส.เครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และภาคีเครือข่าย กว่า 30 คน ที่ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เพื่อเรียกร้องให้ออกมาตรการคุมเข้มปัญหาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แก้ปัญหาขายเหล้าให้เด็กผิดกฎหมาย ปัญหาอุบัติเหตุเจ็บตายพิการจากรถจักรยายนต์เมาแล้วขับ ปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำ และข้อเสนอให้มีจุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือในพื้นที่เล่นน้ำ