(10 ก.ย. 63) นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการนำเสนอผลงานทางวิชาการและรับฟังการนำเสนอผลงานของผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารมหานครระดับกลาง (บนก.) รุ่นที่ 26 เรื่อง “ความปกติใหม่ทางการศึกษา สู่แนวทางการศึกษาใหม่ของกรุงเทพมหานคร : New Normal to New BMA Schools” โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หัวหน้าหน่วยงาน ผู้เข้ารับการอบรม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอชมเชยผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารมหานครระดับกลาง รุ่นที่ 26 ที่เลือกหัวข้อในการศึกษาได้ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เนื่องจากสามารถนำมาเป็นแนวทางในการพิจารณาตัดสินใจกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมให้กับสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานครได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งในการจัดการด้านสถานที่ การดูแลสุขอนามัยของนักเรียนและการจัดการเรียนการสอนในช่องทางต่าง ๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานครในด้านมหานครปลอดภัยและมหานครสำหรับทุกคน รวมถึงแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การได้เรียนและได้รู้เท่านั้น แต่กรุงเทพมหานครมีเป้าประสงค์ที่มุ่งเน้นให้นักบริหารระดับกลางซึ่งวันข้างหน้าจะเป็นผู้บริหารที่สูงขึ้นได้มีวิธีคิด วิธีศึกษา วิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา ตลอดจนการพัฒนากรุงเทพมหานครในมิติต่าง ๆ ต่อไป
สำหรับการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารมหานครระดับกลาง รุ่นที่ 26 (บนก. 26) มีกำหนดจัดฝึกอบรมระหว่างวันที่ 9 ก.ค. – 18 ก.ย. 63 มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 43 คน ประกอบด้วย ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ จากสำนักและสำนักงานเขต จำนวน 40 คน และจากหน่วยงานนอกสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 คน ได้แก่ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช การประปานครหลวง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยในวันนี้ บนก. 26 ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ เรื่อง “ความปกติใหม่ทางการศึกษา สู่แนวทางการศึกษาใหม่ของกรุงเทพมหานคร : New Normal to New BMA Schools” พร้อมจัดแสดงนิทรรศการแนวทางการดำเนินงานและกระบวนการศึกษาในอนาคต ซึ่งแนวคิดหลักของการศึกษาและนำเสนอผลงานในครั้งนี้เกิดจากผู้เข้ารับการฝึกอบรมตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลกในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญมาโดยตลอด
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจและการศึกษาข้อมูลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้เป็นกรอบในการกำหนดข้อเสนอแนะจากการศึกษา สามารถสรุปข้อเสนอแนะและแนวทางในการพัฒนาแนวทางการศึกษาใหม่ของกรุงเทพมหานคร ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษากรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการใน 11 ประเด็น ดังนี้ 1) จัดทำ Platform เพื่อการศึกษาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา 2) จัดตั้งศูนย์กลางสนับสนุนการจัดการศึกษาแบบออนไลน์ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และให้บริการสื่อการเรียนการสอนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 3) ปรับปรุงประสิทธิภาพระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนการเรียนในระบบ On Line และ On Air 4) สร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนาครูและนักเรียนให้มีความพร้อมในการเรียนในระบบ On Line 5) เพิ่มวัสดุและอุปกรณ์ ความพร้อมในการเข้าถึงการศึกษาในระบบ On Air โดยประสานความร่วมมือจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เช่น เสาสัญญาณและกล่องทีวีดิจิทัลให้กับครัวเรือนนักเรียน 6) เพิ่มความหลากหลายและความน่าสนใจของสื่อประกอบการเรียนการสอนในระบบ On Air โดยประสานสถาบันกวดวิชา และบริษัทเอกชน เพื่อจัดทำสื่อที่ทันสมัยและเป็นที่น่าสนใจ 7) จัดหาสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ของภาคีเครือข่าย เพื่อใช้เป็นที่จัดการเรียนการสอนแบบ On Site สำหรับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนที่บ้าน เช่น ห้องประชุม สถานที่ราชการ วัด หรือการสร้างเต็นท์ชั่วคราวที่ใกล้กับที่อยู่อาศัยของนักเรียน ห้องเรียนเคลื่อนที่ 8) จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการทั้ง 4 On ที่เป็นหลักสูตรเฉพาะของกรุงเทพมหานคร 9) จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการเรียนให้นักเรียนที่ไม่มีความพร้อมยืมเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน 10) จัดสวัสดิการอาหารกลางวันฟรีให้กับนักเรียนที่เรียนที่บ้าน หรือคูปองบัตรกำนัลแลกอาหาร หรือเพิ่มยอดเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง และ 11) ศึกษาระบบห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) และนำมาพัฒนาเพื่อเป็นต้นแบบในการเรียนการสอนให้กับสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรฐานความปลอดภัย โดยให้สำนักการศึกษาเป็นศูนย์กลางในการจัดหาและสนับสนุนอุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ ในโรงเรียน เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย น้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย และรักษามาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ ในโรงเรียน เช่น การล้างมือ การไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน การเว้นระยะห่างทางสังคม แม้การระบาดจะหมดไป และด้านการบริหารจัดการและงบประมาณ โดยจัดทำแผนรองรับการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการโรงเรียนตามระดับความรุนแรงของการระบาดของโรค โดยกำหนดรูปแบบการเรียนการสอน (4 On) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และจัดทำแนวทางการของบประมาณเพื่อรองรับการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสถานศึกษาให้เพียงพอและทันต่อเหตุการณ์