พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงสื่อนำไปพาดหัวข่าวว่าต้องชื้อ ซึ่งตนไม่ได้หมายความอย่างนั้น แต่ได้พูดถึงความจำเป็น และแหล่งที่มาของงบประมาณหากชื้อไม่ได้ ก็ต้องมีการเจราจากับจีน เพราะเป็นการอนุมัติงบประมาณล่วงหน้ามาแล้ว ซึ่งขั้นตอนวันนี้เป็นขั้นตอนระยะที่ 2 และ 3 เพราะการต่อเรือต้องใช้เวลา ในการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ดังนั้นจะต้องมีการเจราจา อะไรที่เคยตกลงกันไว้ จะยืดระยะการชื้อได้หรือไม่ เพราะมีหลายส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้ทำงานคนเดียว ทั้งหมดรับผิดชอบด้วยกัน ในฐานะเป็นรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจ อย่าสร้างความขัดแย้ง เพราะหากขัดแย้งไปทุกเรื่อง ประเทศก็จะเดินหน้าไปไม่ได้
สำหรับการพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ หลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งเป็น หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) อยู่แล้ว ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติมาและพิจารณาว่าในระดับรองผบ.ตร. ก็เข้าเกณฑ์การพิจารณาได้ทุกคน ส่วนใครจะได้ก็ต้องพิจารณาเห็นชอบร่วมกันตามความเหมาะสม ในเรื่องสถานการณ์และผลงานการปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมาด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมเสนอร่างของพรรคแยกออกจากพรรคร่วมรัฐบาลในสัปดาห์หน้า ว่า เป็นเรื่องของแต่ละพรรคการเมืองที่จะดำเนินการ ซึ่งต้องทำตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งหากแก้ผิดวิธีก็คงจะวุ่นวายกันไม่เลิก และคงจะต้องแก้ไขไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีใครได้ประโยชน์ใช่หรือไม่ ซึ่งวันนี้ต้องดูว่า ที่ต้องการจะแก้ไขนั้นมีเหตุผลอย่างไร หรือเพื่อต้องการป้องกันอะไรหรือไม่ และเชื่อว่าคงไม่ได้เป็นการแก้ไขเพื่อตนเองอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ และยืนยันว่า ที่ตนเองทำทุกวันนี้เป็นความรับผิดชอบตามหน้าที่ และในช่วงที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญเก่าไปก่อน
ส่วนนายกรัฐมนตรีจะเสนอแก้อำนาจของ ส.ว. สามารถทำได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนจะเสนอได้อย่างไร ต้องเป็นเรื่องของพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล และทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงต้องดูว่าจำเป็นต้องมีการทำประชามติด้วยหรือไม่ ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามกลไก
ผู้สื่อข่าวถามว่า อำนาจ ส.ว.ที่เลือกนายกรัฐมนตรียังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ต้องไปหารือกันในสภาฯ เชื่อว่าจะได้ข้อสรุป และคงไม่มีใครที่อยากจะโดนต่อว่าทุกวัน และทุกคนมีความตั้งใจทำงาน ทั้งนี้อยากให้มองย้อนกลับไปเปรียบเทียบว่าที่ผ่านมา ส.ว.ในอดีต ทำหน้าที่อย่างไร ขออย่ามองเพียงแต่ว่า ส.ว.จะมาทำหน้าที่เพียงสนับสนุนให้ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะยังมีประเด็นอื่นอีกหลายเรื่อง