สำหรับอ่างเก็บน้ำคลองดินแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สืบเนื่องมาจากเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 ได้เกิดอุทกภัยในเขตบริเวณอำเภอฉวาง อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และที่ทำกินของราษฎรในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานหาทางป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ของแม่น้ำตาปีตอนล่าง จนเกิดเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำเขื่อนคลองดินแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ของลุ่มแม่น้ำตาปีตอนล่างและรองรับน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่พื้นที่ชลประทานประมาณ 9,900 ไร่ โดยภายหลังจากที่โครงการฯแล้วเสร็จ พบว่าในพื้นไม่มีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้นอีกตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำคลองดินแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีความจุ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรแต่ยังไม่มีระบบส่งน้ำเข้าสู่ภาคการเกษตรของประชาชน รวมถึงการนำไปใช้ในการอุปโภค-บริโภค กรมชลประทานจึงได้มีการวางแผนการก่อสร้างระบบส่งน้ำ โดยระบบท่อ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการสำรวจออกแบบแนวท่อซึ่งมีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเป็นสำคัญ
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวเน้นย้ำให้กรมชลประทาน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพอ่างเก็บน้ำคลองดินแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีความสำคัญทั้งในภาคการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน ในฐานะที่เข้าใจความต้องการใช้น้ำและรับทราบปัญหาจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี เร่งพิจารณาการสำรวจและออกแบบระบบส่งน้ำไปยังประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2565 ซึ่งในส่วนของการจัดหาที่ดิน จะต้องสร้างความเข้าใจ สร้างความมั่นใจในกระบวนการชดเชยและลดผลกระทบ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนอย่างเข้มข้น เพื่อให้อ่างเก็บน้ำคลองดินแดงฯ สามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชน ทั้งในด้านการเกษตร อุปโภค-บริโภค ได้อย่างยั่งยืน
“การดำเนินงานเรื่องใดก็แล้วแต่ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องมีการพูดคุย หารือก่อนที่จะดำเนินการ” ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าว