ทั้งนี้ มองว่าภายใต้เวลาปัจจุบันเป็นไปได้ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยก็ควรแสดงออกว่าสถาบันทางการเมืองตอบข้อเสนอของนักศึกษา ซึ่งสามารถเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่การพิจารณารัฐภา ได้ทันก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา โดยจะเสนอในเรื่องการยกเลิกสมาชิกวุฒิภา และทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องสามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ โดยแยกเป็น 3 ฉบับ คือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อยกเลิกมาตรา 279 ที่ให้ความคุ้มครองคำสั่งหรือประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อยกเลิกมาตรา 269,270,271,272 ว่าด้วยเรื่องวุฒิสภา ถ้าหากยกเลิกวุฒิสภา ก็หมายความว่า ส.ว.ทั้ง 250 คนจะหายไป และก็กลับไปใช้การเลือกตั้งวุฒิสภาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และอำนาจ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลก็จะหมดไป 3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อปรับวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ 2560ให้ง่ายขึ้น และเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ดังนั้น ตนมองว่า ทั้ง 3 ประเด็นนี้สามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้ในสมัยประชุมนี้ โดยเฉพาะ 2 ประเด็นแรกที่ไม่ต้องไปออกเสียงประชามติเพราะเป็นการแก้ไขในหมวดที่ว่าด้วยบทเฉพาะการ ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย ส่วนประเด็นที่ 3. ต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จึงต้องมีการทำประชามติ
นายปิยบุตร ยังกล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ว่าต้องยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแต่ปัญหาคือบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมดก็อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นกัน จึงกำลังใช้วิธีการแก้รัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญระบุ
โดยในรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าบทเฉพาะกาลต้องทำประชามติก่อน ดังนั้นจึงไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการที่หากแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งอาจทำให้อำนาจของ ส.ว. หายไปนั้น หาก ส.ว. ออกมาเคลื่อนไหวหรือขัดขวางก็อาจถูกมองว่าเป็นการทำเพื่อปกป้องอำนาจของตัวเอง ดังนั้น ส.ว. ทั้ง 250 คน พึงพิจารณาตนเอง ซึ่งตนเข้าใจดีว่า ส.ว.หลายคนมีความรู้ความสามารถ แต่ยังมีวิธีอื่นโดยการสมัครเป็น ส.ว. ใหม่ ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม อยากให้ ส.ส. ทั้ง 500 คน ช่วยกันรณรงค์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเองได้ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วสามารถนำไปใช้ได้ จึงอยากให้ ส.ส. ทุกคนสนใจและฟังเสียงสังคม ลองเอาร่างฉบับนี้ไปปรับไปใช้ได้เลย