จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF)ที่กระจายไปทั่วเอเชีย ส่งผลให้ราคาหมูในหลายประเทศเพิ่มขึ้น จากการที่หมูเริ่มขาดแคลน ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะได้ส่งออกหมูไปต่างประเทศเพิ่มเงินตราเข้าประเทศ และยังเป็นโอกาสในการลืมตาอ้าปากของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทยให้หลุดพ้นจากวังวน “หลายปีแย่ แค่บางปีดี”

แหล่งข่าวจากวงการเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เปิดเผยว่า นับจากปัญหาหมูล้นตลาดเมื่อปี 2560 ทำให้ เกษตรกรและคนในวงการหมูต้องพบปัญหาและอุปสรรคมากมาย เข้าสู่วังวนที่ว่า “หลายปีแย่ แค่บางปีดี” ซึ่งหมายถึง ราคาหมูตกต่ำหลายปี ราคาดีแค่บางปี เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 200,000 ราย ต้องประสบปัญหาเดียวกันคือ ปัญหาราคาขึ้นลงตาม “วัฏจักรสุกร” หรือ “วงจรราคาสุกร” (Hog Cycle) และปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหมูถูกท้าทายด้วย โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ได้กดดันให้คนเลี้ยงหมูต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้อย่างเข้มงวด ด้วยการปิดทุกความเสี่ยงจนทำให้ไทยครองอันดับ “ประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ปลอดโรค ASF” และปัจจุบันหมูไทยเป็นที่ต้องการของทั่วโลก แต่กลับปรากฏว่ามีการควบคุมราคาหมู และจำกัดการส่งออก ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศหมดโอกาสในการยืนหยัดต่อไปในอาชีพ หมดกำลังใจในการต่อสู้ จึงขอความเห็นใจจากผู้เกี่ยวข้องอย่าควบคุมราคาหรือจำกัดการส่งออกเพราะเกษตรกรจะอยู่ไม่ได้ เพราะในยามขาดทุนก็ลำบากแสนสาหัส ปัจจุบันหมูราคาสูงขอให้เกษตรกรได้มีโอกาสทำกำไร สร้างรายได้ มาชดเชยขาดทุนที่สะสมมานาน

สถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นโอกาสของหมูไทย ขอให้ทุกฝ่ายเปิดใจกว้างให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยได้ลืมตาอ้าปากก่อนที่คนเลี้ยงหมูต้องล้มหายตายจากไปอย่างที่เป็นมา และต้องไม่ลืมว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีอาชีพเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่นได้ แม้ต้องทนรับราคาตกต่ำสามปีก็ต้องยอมเพราะทั้งชีวิตก็ทำอยู่แค่อาชีพเดียวนี้ ขณะที่ผู้บริโภคเป็นกลุ่มคนที่มีทางเลือก สามารถเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ได้ตามต้องการ ยิ่งฤดูกาลนี้ มีอาหารธรรมชาติและโปรตีนทดแทนให้เลือกมากมาย ทั้งปลา ไข่ ไก่ ที่ล้วนราคาไม่แพงทั้งสิ้น

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุด ในอันดับที่ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 2 ของโลก และไทยยังสามารถคงสถานะการเป็นประเทศที่ปลอดจาก ASF ส่งผลให้หมูไทยเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ เห็นว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมหมูไทยที่จะได้ส่งออกไปทั่วโลก แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ถูกกดดัน เนื่องจากต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ผู้บริโภคในประเทศเดือดร้อน แต่อย่างไรก็ตามจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและภาคการส่งออก โดยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคในประเทศ

ทั้งนี้ ยังสอดคล้องกับความเห็นของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดย น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่าปัจจุบันราคาหมูในหลายประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่จีน หรือ เวียดนาม ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการเพื่อการบริโภคและนำเข้ายังมีต่อเนื่อง การที่ราคาหมูส่งออกเพิ่มขึ้นถือเป็นโอกาสและสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงและผู้ส่งออก ต้องให้โอกาสผู้เลี้ยงได้รับประโยชน์จากการที่หมูมีราคาสูงขึ้น

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลจะใช้มาตรการจำกัดการส่งออกหมู เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ ก็ควรต้องพิจารณาด้วยว่า ส่วนที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศควรจะต้องเพิ่มหรือขยายการส่งออกได้หรือไม่ เพราะในภาพของอุตสาหกรรมต้องมองอีกแง่ว่า เราส่งออกหมูได้มากขึ้นนั้นเพราะสินค้าเกษตรเรามีมาตรฐานมากขึ้นเช่นกัน