ตามที่ปรากฏข่าวทางหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ “ความหวังคดี ‘วันเฉลิม’ ริบหรี่” เมื่อวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2563 โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า “…เวทีเสวนา “หนึ่งเดือนกับการแสวงหาความจริง : #saveวันเฉลิม” โดย น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวนายวันเฉลิมฯ กล่าวว่า ตนพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ทราบข่าวว่าวันเฉลิมฯ เป็นอย่างไร มีการยื่นเอกสารทั้งทางไทยและกัมพูชา ขณะนี้อัยการสูงสุดให้ความเห็นว่าต้องรอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษก่อน ซึ่งยื่นเรื่องไปที่ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.63 โดยใช้เวลา 15 วันพิจารณาว่าจะรับคดีหรือไม่ ถ้าดีเอสไอไม่รับเป็นคดีพิเศษเราก็ไปต่อยาก หนทางที่จะตามหาวันเฉลิมฯ ก็ริบหรี่ลงไป ส่วนในกัมพูชามีการแต่งตั้งทนายไปแจ้งความกับทางการกัมพูชาแล้ว เพราะตั้งแต่เกิดเรื่องทางการกัมพูชาก็ปฏิเสธ หน่วยงานรัฐไทยก็บอกว่าทำตามกระบวนการ ผ่านไปหนึ่งเดือนไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย จึงต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ…” นั้น
พันตำรวจเอก อัครพล บุณโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยภายหลังจากที่ได้รับเรื่องแล้ว ได้มอบหมายให้กองบริหารคดีพิเศษในฐานะหน่วยงานพิจารณาคำร้องของประชาชนในเรื่องทางอาญาที่ร้องขอต่อกรมฯ รีบดำเนินการ และปรากฏข้อเท็จจริงว่า เป็นกรณีร้องขอให้สืบสวนสอบสวน โดยเชื่อว่าบุคคลสัญชาติไทย คือ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ สูญหายในต่างประเทศ เนื่องจากการกระทำผิดอาญาอันอาจเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นกรณีความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 วรรคหนึ่ง กำหนดให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ โดยในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มีคำสั่งให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องทราบต่อไป