ทั้งนี้ การปฏิรูปประเทศเป็นประเด็นสำคัญที่ใช้เป็นข้ออ้างนำมาซึ่งการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ก็ได้บัญญัติบังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศตาม ม.257 ประกอบ พรบ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ 2560 ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล ม.270 ความว่า “ให้คณะรัฐมนตรี แจ้งความคืบหน้าในการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือน” เพื่อป้องกันมิให้คณะรัฐมนตรีละเลยหรือเพิกเฉยต่อการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่จากกรณีสภาล่มความจึงปรากฏโดยปริยายว่า คณะรัฐมนตรีฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ 2560 ม.270 โดยชัดแจ้งเพราะไม่รายงานความคืบหน้า การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาในทุก ๆ 3 เดือนตามที่กฎหมายบัญญัติ แสดงให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่จริงใจต่อการปฏิรูปประเทศโดยชัดแจ้ง ซึ่งอาจมีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 และอาจเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งอาจมีผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.167 ประกอบ ม.170 และ ม.160 บัญญัติไว้ สมาคมจึงจำต้องนำความไปร้องเรียนต่อคณะการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการเอาผิดคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต่อไป