นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึง ความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 โดยระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายนเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีจำนวนข้อเสนอโครงการและแผนงานรวมทั้งสิ้น 46,429 โครงการ วงเงินกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยคณะทำงานของ สศช. ได้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการแผนงานรอบแรกแล้วเสร็จพบว่ามีโครงการที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 213 โครงการ วงเงินรวมกว่า 101,400 ล้านบาท ซึ่งในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ สศช. จะนำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้เพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. พิจารณาในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ เบื้องต้นคาดว่าโครงการและแผนงานที่ผ่านการวิเคราะห์รอบแรกที่จะเสนอต่อ ครม. วงเงินประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท เมื่อผ่านความเห็นชอบเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบการจ้างงานทันที ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของการใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เน้นการจ้างงาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ท่องเที่ยวชุมชน การลงทุนต้องกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และกระตุ้นการอุปโภคบริโภคการท่องเที่ยวในประเทศ
ส่วนโครงการชุดที่ 2-3 จะดำเนินการนำเสนอ ครม.เดือนสิงหาคมและกันยายนต่อไปตามลำดับ โครงการที่ผ่านการพิจารณาชุดแรกนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจเกิดมูลค่าผลผลิตใหม่อย่างน้อยเกือบ ๆ 2 เท่า จ้างงานประมาณ 410,415 คน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน/ตำบล 79,604 หมู่บ้าน 3,000 ตำบล
อย่างไรก็ตาม กรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินโดยภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนเริ่มปีงบประมาณประจำปี 2564 ในเดือนตุลาคม 2563 และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในขั้นต้นที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนนี้