แต่เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. 2561 มาตรา 11 (18) บัญญัติไว้ว่ากรรมการ ป.ป.ช.ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ “เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา” ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สนช.ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ดังนั้นเมื่อนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เคยได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 และพ้นจากตำแหน่ง สนช.ซึ่งถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 นับถึงปัจจุบันพ้นตำแหน่งมาเพียง 1 ปี เท่ากับพ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี จึงน่าจะเป็นการขัดต่อลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว
ทั้งนี้นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงเห็นว่าจะต้องหาข้อยุติดังกล่าวโดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 231 ในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองว่า การที่ ส.ว.ให้ความเห็นชอบบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.2561 มาตรา 11 (18) เป็นการกระทำโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมาคมฯจะดำเนินการร้องเอาผิด 219 ส.ว. ที่โหวตให้นายสุชาติเป็น ป.ป.ช.ตามครรลองของกฎหมายต่อไป เพราะไม่ว่าจะใหญ่มาจากไหนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน โดยสมาคมฯจะไปยื่นเรื่องในวันพฤหัสที่ 4 มิ.ย. 63 เวลา 09.00 น. ที่ สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ห้อง 903 ศูนย์ราชการ อาคาร B