สศก. ได้ประเมินผลโครงการฯ พื้นที่ 23 จังหวัด ที่ได้ดำเนินการเป็นปีแรกในปีงบประมาณ 2561 จำนวนสมาชิก 1,500 ราย พบว่า การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย เกษตรกรได้รับความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสาน 23,486 ไร่ เกษตรกรได้รับเงินอุดหนุนเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ ได้นำความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำปุ๋ยหมัก การปรับปรุงบำรุงดิน การทำบัญชีครัวเรือน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การลดต้นทุนการผลิตมาปรับใช้ในการทำการเกษตร รวมทั้งมีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยนำมูลสัตว์มาทำปุ๋ย นำพืชผักและฟางข้าวเป็นอาหารสัตว์น้ำ
ด้านรายได้ พบว่า เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต 8,100 บาทต่อไร่ และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการพึ่งพาตนเองได้รวม 2,579 บาท ซึ่งเกษตรกรถึงร้อยละ 94 มีการพัฒนาแปลงผสมผสานอย่างต่อเนื่อง และร้อยละ 66 ได้ต่อยอดโดยมีการขยายผลการทำเกษตรผสมผสานสู่เกษตรกรรายอื่นต่อไปอีกด้วย
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และกระทบต่อรายได้เกษตรกร เนื่องจากความไม่สะดวกในการกระจายสินค้า ขายสินค้าได้ในจำนวนไม่มาก แต่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้จากการทำกิจกรรมเกษตรผสมผสาน ลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงอาหาร ด้วยแหล่งอาหารที่ตนเองผลิต นับได้ว่าการทำเกษตรผสมผสานก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกร