ขณะเดียวกัน มองว่า ในปีนี้น้ำในภาคตะวันออกมีฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีน้ำไหลลงอ่างลดลงจากเดิมเนื่องจากฝนที่ตกไม่เข้าอ่างเก็บน้ำ ทำให้เรื่องน้ำเป็นปัญหาที่สำคัญจะต้องมีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าในปี 2563-2565 จะมีการตั้งโรงงานเพิ่มประมาณ 2 เท่าตัว และหากมีน้ำไม่เพียงพอก็อาจกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ ขณะที่ความคืบหน้าของการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด อยู่ระหว่างการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยหากอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง ก่อสร้างเสร็จจะสามารถแบ่งปันน้ำเข้าสู่พื้นที่อีอีซีได้ประมาณ 100 – 150 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะครึ่งหลังของปี 2563 ที่นักลงทุนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว กนอ.ได้มีการปรับเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของกนอ.ลงเหลือประมาณ 2,000-2,500ไร่ ต่อปี จากเดิมที่ตั้งเป้า ประมาณ 3,000-3,500 ไร่ต่อปี นอกจากนี้ กนอ.เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมต่อคณะกรรมการ กนอ.ให้ความเห็นชอบ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จบลง กนอ.เตรียมปรับแผนเชิงรุกมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ประกอบด้วย 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต