ทั้งนี้ ในการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสนอแนวทางสำคัญ 3 แนวทาง คือ
1. จัดตั้ง “กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19” โดยจัดสรรเงินที่มีอยู่แล้ว จากกองทุนเพื่อการพัฒนาอาเซียน เพื่อรองรับผลกระทบ ทั้งในระยะสั้น ในการเป็นทุนสำหรับจัดซื้อชุดตรวจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังขาดแคลนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และในระยะยาว เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นวัคซีน และยา
2. ใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเสนอให้ใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่มีอยู่แล้ว ร่วมกับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในการผลิตนวัตกรรมเพื่อป้องกันและรับมือการแพร่ระบาด และความท้าทายอื่นๆ ในอนาคต นายกรัฐมนตรี? ยังเสนอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการความร่วมมือไตรภาคี (TCS) รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายและมาตรการของแต่ละประเทศ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากมาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (CMIM) เพื่อบรรเทาผลกระทบและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค ในกรณีที่จำเป็น
3. ส่งเสริมทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่างๆ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSMEs รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบจากข่าวปลอม
ทั้งนี้ ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้น และการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ จะช่วยให้เราเอาชนะวิกฤตนี้ไปได้ โดยไทยพร้อมร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนบวกสามอย่างเต็มที่ ให้ทุกประเทศในภูมิภาคสามารถฟื้นตัวและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของโลกนี้ต่อไป เราจะเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน