เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจแห่งชาติ ได้มีวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0001(จตช)/0121 ลง 3 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง ผบช.หรือตำแหน่งเทียบเท่า ,ผบก.ในสังกัด สง.ผบ.ตร. หรือตำแหน่งเทียบเท่า
อ้างถึง วิทยุ ตร.ด่วนที่สุด ที่ 0001(ศปก.ตร.)/91 ลง 7 มิถุนายน 2560 กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์
จากการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามวิทยุคำสั่งดังกล่าว ของหน่วยงานต่างๆ พบว่ามีบางหน่วยงานไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งที่ ตร. ได้กำหนดไว้ ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าวการแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเสริมภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงกำชับการปฏิบัติ ดังนี้
1.ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น และข้าราชการตำรวจทุกนายถือปฏิบัติตามวิทยุ ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0001(ศปก.ตร.)/91 ลง 7 มิถุนายน 2560 และระเบียบ ตร.ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 30 การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าวการแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2556 โดยเคร่งครัด
2.หากพบว่ามีการดำเนินการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบและคำสั่งดังกล่าว ทำให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของตำรวจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงจนส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของ ตร. แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางปกครองและทางวินัยอย่างเคร่งครัดตามอำนาจหน้าที่ แล้วรายงาน ตร.(ผ่าน จต.) ทราบต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับรายละเอียด วิทยุ ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0001(ศปก.ตร.)/91 ลง 7 มิถุนายน 2560 ลงนามโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ขัยจินดา ผบ.ตร. มีใจความว่า ในกรณีมีความจำเป็นต้องให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือคดีอาญาที่ระชาชนให้ความสนใจในวงกว้าง และอาจส่งผลกระทบต่อ ตร.ได้ทั้งเชิงบวกและลบ ให้หัวหน้าหน่วยหรือผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ ประสานงานกับคณะทำงานโฆษก ตร. เพื่อหารือและร่วมกำหนดแนวทาง ประเด็น เนื้อหา วิธีการ และการปฏิบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนการให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ทุกกรณี เพื่อให้ได้ข้อมูลข่างสารที่ครบถ้วน ตรงตามข้อเท็จจริง และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ จนอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในภาพรวมได้