จากการศึกษาข้อมูลโครงการวิจัยเกี่ยวกับเด็กติดเกม ระหว่างปี 2552–2562 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า ปัญหาเกี่ยวกับเด็กติดเกมเป็นผลมาจากปัจจัยการเลี้ยงดู ของครอบครัวและจากตัวเด็กเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการป้องกันและแก้ปัญหาการติดเกม
ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์เด็กติดเกมทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเยาวชนและสังคมดังปรากฎในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น กรณีทำร้ายผู้ปกครอง หรือคนในครอบครัว จากการศึกษาวิจัยในประเด็นการติดเกมในช่วงปี 2552–2562 ส่วนใหญ่พบว่า การติดเกมนั้นสาเหตุมาจากปัจจัยการเลี้ยงดูของครอบครัว และจากตัวเด็ก ซึ่งจากการศึกษาสถานการณ์คุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยระหว่าง เดือนมกราคม–เดือนมิถุนายน 2562 ของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
พบว่า เด็กวัยรุ่น ร้อยละ 80 เล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ เกมออนไลน์ ซึ่ง 1 ใน 10 ยังมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทย เยาวชนที่ติดเกมมีพฤติกรรมใช้จ่ายเงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเล่นเกม สาเหตุสำคัญที่ติดเกม คือ เพื่อนชวนให้เล่น รองลงมา คือ ที่บ้านมีคอมพิวเตอร์หรือเกม โดยปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กติดเกมคือ ครอบครัว เทคโนโลยี ธุรกิจเกม/ร้านอินเตอร์เน็ต และการคบเพื่อน สำหรับกระบวนการในการเลิกติดเกมได้สำเร็จ ประกอบด้วย 4 มิติสำคัญ คือ แรงจูงใจในการเลิกเล่นเกม วิธีที่ใช้ในการเลิกติดเกม ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคและเอื้อต่อการเลิกติดเกมทั้ง 4 มิตินี้ ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุด
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้มีข้อเสนอแนะทั้งในเชิงนโยบาย ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารสถานศึกษา ครอบครัว เด็กและเยาวชน โดยผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่มีส่วนร่วมในการดูแลเด็กและเยาวชน ควรมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเกม เป็นกระบวนการ ขั้นตอน และเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
โดยการผลักดันปัญหาเด็กติดเกมให้เป็นวาระแห่งชาติที่ได้รับการพิจารณาแก้ไขโดยเร่งด่วน มอบหมายให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสำรวจพื้นที่ที่มีอัตราเสี่ยงหรือจำนวนเด็กติดเกมสูง เพื่อรีบบำบัดและเยียวยาให้เด็กพ้นจากสภาพเด็กติดเกม สร้างความตระหนักถึงพิษภัยอันตราย อันเกิดจากภาวะเด็กติดเกม ส่งเสริมให้มีเครือข่ายป้องกันการติดเกม ควบคุมมาตรฐานร้านเกม และอบรมจริยธรรมของผู้ประกอบการร้านเกม รวมถึงการรณรงค์และส่งเสริมให้ พ่อแม่ผู้ปกครอง ตระหนักและเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัวในการป้องกันการติดเกม ซึ่งสถานศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เด็กติดเกมได้