ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) นางสาวบี(นามสมมุติ) นางแบบ นักแสดงอิสระ อายุ 36 ปี เดินทางมาร้องเรียน ศูนย์ป้องกันและ ปราบปรามการฉ้อโกงประชาชน ผ่านระบบโทรศัพท์และสื่อ อิเล็กทรอนิกส์ (Call Center) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้ธนาคารชี้แจง หลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์สวมรอยโอนเงินออกจากบัญชีเงินสด กองทุน เสียหายเกือบ 2 ล้านบาท
น.ส.บี กล่าวว่า วันที่ 27 ธันวาคม 2560 มีเจ้าหน้าที่โทรมาหาตน และแจ้งว่ามีหมายศาลมา 1 ฉบับ อ้างว่าเคยไปกู้สินเชื่อรถยนต์ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แนะนำให้ตนไปแจ้งความ และมีการโอนสายให้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่หลายคน และสอบถามข้อมูลบัตรประชาชน กองทุน เลขที่บัญชีธนาคาร ข้อมูลบัตรเครดิต ถามถึงรูปพรรณสัณฐาน ตนก็ไม่สงสัยเนื่องจากเช็คหมายเลขโทรศัพท์เป็นเบอร์ของหน่วยงานจริงๆ หลังจากนั้นประมาณวันที่ 4 มกราคม 2561 ธนาคารแจ้งว่าพบการโอนเงินที่ผิดปกติ จึงตรวจสอบพบว่าเงินในบัญชีหายไป และกองทุนถูกขายไปด้วย มีการโอนเงินต่อเนื่องหลายสิบครั้ง โอนเงินตั้งแต่500 บาท ถึง 1 แสนบาท นอกจากนี้ยังพบว่ามีการโอนเงินออกไปต่างประเทศ จึงเชื่อว่าถูกแก๊งค์ขอเซ็นเตอร์สวมรอยโอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมด หลังจากนั้นจึงเข้าแจ้งความที่ สน.ห้วยขวาง ทางตำรวจกำลังเร่งติดตามหาตัวคนร้าย
น.ส.บี กล่าวอีกว่า อยากให้ธนาคารออกมาชี้แจงถึงการขายกองทุน หรือโอนเงิน ว่าทำได้อย่างไร ในเมื่อตนไม่ได้เป็นผู้โอนเงิน และปกติตนเองไม่เคยทำธุรกรรมผ่านแอพลิเคชั่นเลย จะทำหน้าเคาท์เตอร์ธนาคารทุกครั้ง จึงอยากทราบว่าคนร้ายมีวิธีการโอนเงิน ขายกองทุนอย่างไร รวมทั้งให้ธนาคารแสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย ตนพยายามติดต่อกับธนาคาร แต่ธนาคารขอเลื่อนมาตลอด
ขณะที่ พ.ต.ท.เขมรินทร์ พิศมัย รองผู้กำกัลสืบสวน สน.ห้วยขวาง ในฐานะหัวหน้าศูนย์คอลเซ็ลเตอร์ ระบุว่า ในกรณีดังกล่าว เป็นรูปแบบการหลอกลวงลักษณะคอลเซ็นเตอร์รูปแบบใหม่ ซึ่งจะใช้วิธีการขอเลขที่ One Time Password หรือ OTP จากผู้เสียหาย เพื่อนำไปสืบหาข้อมูลเส้นทางการเงิน โดยต้องแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะเปลี่ยนมาใช้วิธีดังกล่าวมากขึ้น และ ใช้ต่อมาเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก โดยวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงลักษณะดังกล่าว คือ การไม่ให้ข้อมูลทางธุรกรรมการเงินกับคนแปลกหน้าอย่างเด็ดขาด