วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 โดยมี นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการการประชุมฯ ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ และผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ
สาระของการประชุม ได้มีการรายงานสรุปสถานการณ์ปัญหายาเสพติด ผลการดำเนินงานด้านป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษายาเสพติด ประจำปี 2562 และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการกำกับติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และคณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและมาตรการด้านการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction)
การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการ ฯ ได้ร่วมพิจารณาแนวทางการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ประจำปี 2563 ที่มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขกลุ่มเสี่ยงสูง ที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี การลดวงจรด้านอุปทาน สกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ปฏิบัติการยุติแหล่งผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ สกัดกั้นจุดเสี่ยงตามแนวชายแดน ปราบปรามเครือข่ายการค้า อาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการแพร่ระบาดยาเสพติดใน 1,694 หมู่บ้านชุมชน และมุ่งสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ในหมู่บ้านชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ เพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยง ให้ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด โดยบูรณาการมาตรการป้องกันยาเสพติดและมาตรการบำบัดรักษายาเสพติดเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานการประชุมได้มีแนวนโยบายข้อสั่งการ ดังนี้
1. ให้หน่วยงานในที่นี้ ยึดนโยบายและถือปฏิบัติตามมติที่ประชุม
2. เน้นการลดอุปทาน ปริมาณการนำเข้าและการค้ายาเสพติดในประเทศให้ได้มากที่สุด
3. เน้นการลดอุปสงค์ การป้องกัน การลดปัจจัยเสี่ยงและการบัดรักษาฟื้นฟูผู้เสพ และการบำบัดรักษาอย่างมีคุณภาพ
4. เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างกำลังประชาชนในการป้องกันยาเสพติดในหมู่บ้านชุมชนทุกจังหวัด
5. เน้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เฉพาะที่มีการค้าและแพร่ระบาด ได้แก่ แผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ (พ.ศ. 2562-2565) ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย ตาก และแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2562-2564
6.มอบให้ สำนักงาน ป.ป.ส. จัดระบบติดตามและประเมินผล ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ
7. ใช้ ศอ.ปส. เป็นกลไกการกำกับบูรณาการและติดตามการดำเนินงานในภาพรวม
8. ให้นำข้อพิจารณาจากที่ประชุมใส่เพิ่มเติมในร่างคำสั่งฯ
โดยหลังจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จะออกเป็นคำสั่งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการแก้ปัญหายาเสพติดให้เกิดความต่อเนื่อง และบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดต่อไป