หน้าแรกเศรษฐกิจ-การเงินกรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.15-30.45 มองมีโอกาสแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปี

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.15-30.45 มองมีโอกาสแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปี

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.15-30.45 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.30 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 2.8 พันล้านบาท และ 5.1 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบทุกสกุลเงินสำคัญ หลังยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้และเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 29-30 ต.ค.

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนยังให้ความสนใจความคืบหน้า Brexit หลังช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาสหราชอาณาจักรเลื่อนการลงมติเรื่องข้อตกลง Brexit ของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ส่งผลให้นายกฯ จอห์นสันต้องขอให้อียูเลื่อนกำหนด Brexit ออกไปจากวันที่ 31 ต.ค. 2562 ซึ่งเป็นการขอเลื่อนเส้นตายเป็นครั้งที่สาม โดยสภาสหราชอาณาจักรจะโหวตดีลของนายกฯ อีกครั้งในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่าการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์จะเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ บ่งชี้ว่าสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงการถอนตัวลักษณะ No deal ได้ นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 24 ต.ค.เพื่อประเมินทิศทางนโยบาย หลังการประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของอีซีบีในเดือน ก.ย.ซึ่งรวมถึงการลดดอกเบี้ยและโครงการเข้าซื้อพันธบัตรรอบใหม่อาจไม่มีผลต่อการกระตุ้นเงินเฟ้อมากนัก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์คาดว่าเงินบาทจะเข้าทดสอบระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ในสัปดาห์นี้ ทางด้านกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยข้อมูลการค้าเดือนก.ย. โดยการส่งออกลดลง 1.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และนำเข้าหดตัว 4.24% ซึ่งกระเตื้องขึ้นจากฐานเปรียบเทียบที่ค่อนข้างต่ำ ขณะที่ยอดเกินดุลการค้าจำนวน 1.28 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเกิดจากการหดตัวของยอดนำเข้าจะสร้างแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทต่อไป อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของดอลลาร์ในตลาดโลกทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มสกุลเงินประเทศคู่แข่งและคู่ค้ามากขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยลดความกังวลของทางการได้บ้าง ทั้งนี้ เรามองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25% ก่อนสิ้นปีนี้ และคงไว้ที่ระดับดังกล่าวตลอดทั้งปี 2563 ขณะที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีลักษณะซึมลงในระยะนี้ โดยตลาดยังคงติดตามประเด็นความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และข้อสรุป Brexit ต่อไป

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img