เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2562 ที่ ห้องประชุม ศปก.สภ.ไทรโยคจว.กาญจนบุรี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. (มค.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รอง ผบช.ส.,พล.ต.ต.ณัฐธแก้ว เมตตามิตรพงศ์ ผบก.ประจำ สง.ผบ.ตร.โดยมี พล.ต.ต. กฤษณะ แสงสว่างรอง ผบช.ภ.7 พร้อมด้วย เจ้าหน้าตำรวจในสังกัดปทส.บก.ภ.จว.จว.กาญจนบุรีเจ้าหน้าที่ฝ่าย ทหารจาก พล.ร.9,มทบ.17, กอรมน. จว.อุตสาหกรรม จว.,ฝ่ายปกครอง, ป่าไม้,กรมที่ดิน กำนัน,ผญบ.,สพฐ.,EODและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ภายหลังประชุม พล.ต.อ.ศรีวราห์ เปิดเผยว่าวันนี้ ได้นำกำลังเข้าตรวจค้นตรวจยึดโดยใช้หมายค้นของศาลจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 3 จุด เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507, พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484, ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497, พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดย จุดที่ 1 พื้นที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าวังใหญ่และป่าแม่น้ำน้อย หมู่ 4 ตำบลศรีมงคล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ คิดเป็นค่าเสียหาย 15 ล้านบาท
จุดที่ 2 พื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ของบริษัท ปฐมวัฒนพานิชย์การแร่ จำกัด หมู่ 4 ตำบลศรีมงคล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ประทานบัตรเลขที่ 32648/16108 เนื้อที่ 81-0-81 ไร่(หมดอายุ 9 ก.ย.2564) ประทานบัตรเลขที่ 32650/16109 เนื้อที่ 186-0-79 ไร่ (หมดอายุ 9 ก.ย.2564)
จุดที่ 3 สถานที่แต่งแร่ และครอบครองแร่ ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเพชรมงคลเหมืองแร่ หมู่ ๔ ตำบล ศรีมงคล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 49-2-1 ไร่
พล.ต.อ.ศรีวราห์ เปิดเผยอีกว่า คดีดังกล่าวได้มีนักการเมืองท้องถิ่น (ขอสงวนนาม) ร้องเรียนไปยังตน ว่ามีการลักลอบตัดไม้ไผ่ ไม้รวก บุกรุกพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและขุดแร่ เก็บแร่ โดยไม่ได้รับอนุญาต ในเขต อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จึงได้สั่งการให้ บก.ปทส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ร้อง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิดจริง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. พบการลักลอบตัดไม้ ประเภทไม้ไผ่ ไม้รวก ประมาณ 500 ต้น/ลำ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังใหญ่และป่าแม่น้ำน้อย หมู่ 4 ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จึงได้ทำการตรวจยึดเป็นของกลาง นำส่ง พงส.สภ.ไทรโยค ดำเนินคดี ตามคดีที่ 358/2562 ลงวันที่ 28 ก.ย.2562 ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุในคดีนี้อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ของบริษัท ปฐมวัฒนพานิชน์การแร่ จำกัดตามที่มีการร้องเรียนว่าในเขตประทานบัตรก็มีการลักลอบตัดไม้เช่นเดียวกัน จึงได้ทำการขยายผลเพื่อเข้าตรวจสอบในพื้นที่ประทานบัตรและการดำเนินการทำเหมืองของบริษัทฯ ตลอดจนการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ว่าถูกต้องหรือไม่ โดยได้ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดกาญจนบุรี เข้าทำการตรวจสอบในวันที่ 30 ก.ย.2562
2. ตรวจพบว่า มีสถานที่เก็บแร่แห่งหนึ่ง ชื่อ เหมืองแร่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเพชรมงคลเหมืองแร่ มีการปิดกั้นทางสาธารณะที่ประชาชนสัญจร จากการสืบสวนตรวจสอบพื้นที่ และสอบถามบุคคลที่ทราบเรื่อง และทราบพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างดี พบว่า เหมืองดังกล่าว ใช้ชื่อว่า หจก.เพชรมงคลเหมืองแร่ ตั้งอยู่เลขที่ 122 หมู่ 4 ตำบลศรีมงคล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีนางเปรมจิตร สุดชารี เป็นเจ้าของ ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังใหญ่และป่าแม่น้ำน้อย บริเวณพื้นที่เหมืองแร่ ด้านหน้าทางเข้า จะมีประตูเหล็กติดลวดหนาม ใส่กุญแจ ด้านในมองเห็นมีป้อมยาม จากการสอบถาม นายชะลอ ประทีป นายก อบต.ศรีมงคล ที่ร่วมเดินทางไปตรวจสอบพื้นที่บริเวณใกล้เคียง พบว่า ประตูที่ปิดล๊อคทางเข้าเหมืองแร่เพชรมงคล เป็นพื้นที่ทางเดินสาธารณะที่ชาวบ้านเคยใช้ เดินทางไปมา ระหว่างบ้านบ้องตี้กับบ้านศรีมงคล และจากการสอบถามนายสมบุญ โชติช่วง อดีตผู้จัดการเหมืองแร่ (ออกจากเหมืองแร่เพชรมงคลมาประมาณ 2 ปีแล้ว) ได้ความว่า เหมืองแร่ดังกล่าว ประทานบัตรหมดอายุไปประมาณ 10 ปีเศษ ปัจจุบันมี นางเปรมจิต สุดชารี ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ แต่งแร่ และขอนุญาตครอบครองแร่ ในพื้นที่ประมาณ 49 ไร่ แต่ปรากฏว่า นางเปรมจิตรฯได้ใช้แร่ที่เหลือจากการขุดสัมปทานตามที่ขออนุญาตหมดไปแล้ว ได้ใช้เครื่องมือขุดแร่ตามลำห้วย บริเวณพื้นที่ป่าสงวน บริเวณพื้นที่ทั่วๆไป จนเป็นหลุม เป็นบ่อ จำนวนมาก นำขึ้นมาเข้าโรงแต่งแร่ และขายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อแร่ที่ขุดขึ้นมาหมด ก็จะขุดขึ้นมาใหม่ เป็นอย่างนี้ตลอด รวมทั้งตัดไม้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจำนวนเป็นร้อยๆไร่ ซึ่งนายสมบุญฯในฐานะผู้จัดการไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนางเปรมจิตรฯ จึงได้ลาออกมาประมาณ 2 ปีเศษ นอกจากนี้นายสมบุญฯยังให้การอีกว่า นางเปรมจิตรฯ ได้สั่งให้คนงานขยายแนวเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตแต่งแร่ออกไปอีก โดยการปักแนวเขตพื้นที่ที่ขออนุญาตแต่งแร่ใหม่ รวมทั้งสร้างบ้านพักในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังใหญ่และป่าแม่น้ำน้อย อีกประมาณ 12 หลัง จากการตรวจสอบพื้นที่ด้านหลังเหมืองแร่ โดยการส่องกล้องทางไกล พบว่าบริเวณด้านในเหมือง มีบ้านพักคนงาน กองแร่ โรงแต่งแร่ หลักเขต บ้านพักแบบโฮมสเตย์ ตามภาพที่แนบมาด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่า การกระทำของนางเปรมจิตรฯ ผู้ครอบครองพื้นที่ มีการขุดแร่ โดยไม่ได้รับประทานบัตร (ทำเหมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต) มีการบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยการตัดต้นไม้ขาย รวมทั้งปลูกสิ่งปลูกสร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ เป็นจำนวนมาก จึงได้รายงานให้ ตนทราบ ตนจึงได้สั่งการให้ดำเนินการตามขั้นของกฏหมายต่อไป