ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานงานวันสิทธิมนุษยชนสากล และกล่าวปาฐกถาพิเศษเพื่อประกาศ “วาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” มีสาระสำคัญดังนี้
ปัจจุบันเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญเพราะเป็นหลักการสากลที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับที่จะช่วยทำให้เกิดสันติภาพและความเจริญก้าวหน้าต่อมวลมนุษยชาติ ทั้งนี้รัฐบาลมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนานาประเทศ และมุ่งหวังให้ประเทศไทยเกิดความสงบสุข สันติสุข ให้ทุกคนมีความรักสามัคคี รู้สิทธิ รู้หน้าที่ เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยคำนึงถึงหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declarations of Human Rights) ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ละเลยต่อการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน จะเห็นได้จากการประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นโยบายลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ การประกาศใช้กฎหมายหลายฉบับ ตลอดจนการประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2557-2561) เพื่อส่งเสริมคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบและประกาศวาระแห่งชาติ “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในการยกระดับสิทธิมนุษยชนให้เป็นวาระแห่งชาติ สนับสนุนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบาย Thailand 4.0 ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่ต้องการ ให้ “สังคมไทยเป็นสังคมที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันโดยคำนึง ถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อนำไปสู่สังคมสันติสุข” ภายใต้กรอบนโยบาย ถอดรหัสวาระแห่งชาติ 4 สร้าง 3 ปรับ 2 ขับ 1 ลด = กุญแจสู่สังคมสันติสุข
นายกรัฐมนตรีหวังว่าทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะร่วมมือกันนำกรอบนโยบายของวาระแห่งชาตินี้ ไปเพิ่มขีดความสามารถการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยมีการดำเนินการดังนี้
(1) การดำเนินการป้องกันและจัดการการค้ามนุษย์ด้วยการประกาศวาระแห่งชาติ ภายใต้ “ประชารัฐ ร่วมใจ ต้านภัย การค้ามนุษย์ อย่างเข้มแข็ง” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ภายใต้มาตรการ 3P คือ 1. การดำเนินคดี Prosecution/ 2. การคุ้มครองช่วยเหลือ Protection/และ 3. การป้องกัน Prevention
(2) ด้านสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง ศีลธรรมอันดี และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน
(3) ด้านสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(4) ด้านสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกควบคุมที่มีความเสี่ยงหรือมีโอกาสที่จะถูกซ้อมทรมาน ประเทศไทยต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี
ในโอกาสที่ปีนี้จะครบรอบ 70 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นายกรัฐมนตรีเห็นว่าหากทุกภาคส่วนให้ความสำคัญของการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ มีความเป็นอยู่ที่ดี มีสุขอย่างยั่งยืน ดังหลักคิดของนายกรัฐมนตรีที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า “เราจะเดินหน้าไปด้วยกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Stronger, Together and Leave No One Behind)