เคทีซีแจ้งกำไรสุทธิครึ่งปีแรก 2562 โตเกินคาด 16% อยู่ที่ 2,913 ล้านบาท พอร์ตสมาชิกรวมโต 7% ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงกว่าอุตสาหกรรม และสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทั้งธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลต่ำกว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เดินหน้าครึ่งปีหลังมุ่งสร้างความเชื่อมั่นและประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ลดกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็น และรักษาคุณภาพหนี้ดีต่อเนื่อง
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2562 จากเดิม 3.8% เป็น 3.3% ในขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคครึ่งแรกของปี 2562 มีอัตราการเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2561”
“ในช่วงครึ่งปีแรกเคทีซียังมีผลการดำเนินงานที่เติบโตเกินคาด โดยสามารถสร้างรายได้เติบโตต่อเนื่องจากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรและยอดลูกหนี้ของสินเชื่อบุคคลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการควบคุมคุณภาพพอร์ตที่ดี มีอัตราหนี้เสียที่ต่ำ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 16% หรือเท่ากับ 2,913 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาส 2 เท่ากับ 1,323 ล้านบาท เนื่องจากมูลค่าการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น และปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้การติดตามหนี้คืนมีความยากขึ้น รายได้หนี้สูญได้รับคืนเติบโตในลักษณะชะลอตัว รวมทั้งสภาวะการแข่งขันสูงของธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ความ ท้าทายของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ผลกระทบจากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนารวดเร็ว”
ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 เคทีซีมีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 78,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินทรัพย์ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯ อยู่ในรูปของลูกหนี้การค้าสุทธิ คิดเป็น 91% ของสินทรัพย์รวม โดยพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 77,121 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี เติบโต 8.8% แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2,405,570 บัตร ขยายตัว 6.9% ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 49,658 ล้านบาท สัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมปัจจุบันอยู่ที่ 12.5% อัตราเติบโตการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีรวมเท่ากับ 10.5% (อุตสาหกรรมเติบโต 8.2%) ส่วนแบ่งการตลาดของการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 11.3% หนี้ที่ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมของบริษัทอยู่ที่ 1.13% ลดต่ำลงต่อเนื่องจาก 1.27% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.01% ลดลงจาก 1.08% (อุตสาหกรรม 1.85%) สินเชื่อบุคคล 985,037 บัญชี ขยายตัว 13.6% ยอดลูกหนี้ สินเชื่อบุคคลรวม 27,177 ล้านบาท สัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 5.1% และ NPL
ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 0.81% เพิ่มเล็กน้อยจาก 0.77% (อุตสาหกรรม 3.49%) โดยสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL ยังคงมูลค่าสูงที่ 622% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 605%
เนื่องจากพอร์ตลูกหนี้รวมที่เติบโตขึ้น 7% เป็นผลให้ไตรมาส 2 ของปี 2562 เคทีซีมีอัตราเติบโตของรายได้รวมเพิ่มขึ้น 5% เท่ากับ 5,528 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนมาจากรายได้ดอกเบี้ย (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) 3,323 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียม 1,218 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ (83% มาจากหนี้สูญได้รับคืน) 987 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทฯ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมภาษีเงินได้) อยู่ที่ 3,871 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากค่าใช้จ่ายการตลาดที่สูงขึ้นตามจำนวนสมาชิกใหม่ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด สำหรับมูลค่าหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญมีจำนวนเพิ่มขึ้นที่ 12% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากพอร์ตลูกหนี้ขยายตัว ทำให้มีการตั้งสำรองและตัดหนี้สูญเพิ่มขึ้น แต่บริษัทฯ ยังคงควบคุมต้นทุนเงินได้ดีมีค่าใช้จ่ายการเงินลดลงที่ 0.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยรักษาสัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิ (Operating Cost to Income Ratio) เท่ากับ 26.1% ลดลงจาก 26.4% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน
บริษัทฯ มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) ทั้งสิ้น 25,790 ล้านบาท เป็นวงเงินของธนาคารกรุงไทย 16,420 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ 9,370 ล้านบาท โดยมีต้นทุนการเงินไตรมาส 2/2562 เท่ากับ 2.91% ลดลงจาก 2.99% หากเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2561 และสำหรับครึ่งปีต้นทุนเงินอยู่ที่ 2.87% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 2.97% เพราะบริษัทฯ สามารถจัดหาเงินจากการออกหุ้นกู้ใหม่ด้วยระยะเวลาที่ยาวขึ้นและมีต้นทุนเงินที่ต่ำ โดยมีอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 3.56 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า
“เราคาดว่าเคทีซีจะสามารถสร้างผลดำเนินงานของปี 2562 ได้ดีกว่าประมาณการเดิมที่เคยเปิดเผยไว้ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนจากการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ทั้งนาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ รวมถึงธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพธุรกิจใหม่ที่ชัดเจนได้ภายใน 18-24 เดือนข้างหน้า โดยจะยังรักษามาตรการในการป้องกันความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาเทคโนโลยีใหม่สนับสนุนธุรกิจ และควบคุมความเสี่ยงในการทุจริตบัตรและรักษาพอร์ตลูกหนี้ให้มีคุณภาพดีต่อเนื่องตลอดกระบวนการ”