นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการบ้านหมุน เป็นปัญหาสุขภาพที่สร้างความรำคาญและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะระหว่างทำงานหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรอาจเกิดอันตรายได้ อาการที่พบได้บ่อย คือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ทรงตัวลำบาก บ้านหมุนคล้ายกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน หรือ รู้สึกว่าตัวเองหมุนทั้งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว อาจมีอาการทางหูร่วมด้วย เช่น หูอื้อ มีเสียงในหู เป็นต้น
สาเหตุของอาการบ้านหมุน หู มักเกิดจากสาเหตุของหูชั้นใน หรือระบบประสาทก็ได้ โดยทั่วไป ถ้ามีอาการเวียนศีรษะรุนแรง ผู้ป่วยมักจะไม่สามารถเคลื่อนไหวศีรษะได้ หรืออาการเลวลงเมื่อมีการขยับหรือเปลี่ยนตำแหน่งของศีรษะ ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ หรือมีเสียงดังใน เช่นน้ำในหูไม่เท่ากันหรือหินปูนในหูหลุด คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า อาการบ้านหมุนเกิดจากน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่จากการศึกษาพบว่ามีเพียงร้อยละ50 ที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน พบร้อยละ10 โดยผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุน หูอื้อ ร่วมกับการได้ยินของหูข้างนั้นลดลง ส่วนอาการเวียนศีรษะจากสาเหตุของ โรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง มักมีอาการเวียนศีรษะทันทีทันใด โดยที่มีความรุนแรง ไม่มาก ร่วมกับมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ตาเหล่หรือเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว แขนขาชาหรืออ่อนแรง เดินลำบาก หรือทรงตัวไม่ได้ ถ้ามีอาการเหล่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดทันที ส่วนสาเหตุอื่นๆของการเวียนศีรษะอาจเกิดจาก เช่น อาการเมารถ เมาเรือ หรือปวดศีรษะไมเกรนได้
ดังนั้นการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง จึงมีความสำคัญกับผู้ป่วย เพราะถ้าได้รับการรักษาในระยะแรกจะได้ผลดี หากสงสัยว่าตนเองมีความผิดปกติ รู้สึกเวียนศีรษะ บ้านหมุนโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือมีประวัติโรคหู ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรายที่มีอาการเวียนศีรษะและอาเจียนมากๆ จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ความดันในเลือดต่ำและอาจเกิดภาวะช็อก ทำให้เกิดอันตรายได้ ทั้งนี้เมื่อมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขณะทำกิจกรรมต่างๆ ควรหยุดนั่งพัก เพื่อป้องกันการหกล้ม กรณีที่มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนมากๆ ควรนอนพักสักครู่ จนอาการดีขึ้นหรือนั่งพัก หลับตา และรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการเลวลง เช่น การหันศีรษะไวๆ การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว
การก้ม เงยคอนานๆ ความเครียด วิตกกังวล อดนอน เป็นต้น ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้