ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ผู้บริหารสูงสุด Economic lntelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า จากการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือขยายตัว 3.1% จากประมาณการเดิมที่ 3.3% โดยมีสาเหตุหลักจากภาคการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ โดยเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือชองปียังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากภาวะสงครามการค้าและการลงทุนของโลก นากความไม่นอนด้านนโยบายการค้าโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง
สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีจาก 10% เป็น 25% ในส่วนของสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จีนก็มีมาตรการตอบโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ มูลค่าราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 5-25% เช่นกัน แม่ล่าสุดจากการประชุม G20 ช่วงปลายเดือนมิถุนายนทางจีนและสหรัฐฯ ได้พักรบจากการขึ้นภาษีลงชั่วคราว แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาปะทุและทวีความรุนแรงในช่วงข้างหน้า อีไอซีจึงมีการปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกเป็นหดตัวที่ -1.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 0.6% รวมทั้งได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 40.1 ล้านคน หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ 4.8% และลดประมาณการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศและการแข็งค่าของเงินบาท
ขณะที่ การใช้จ่ายในประเทศได้ชะลอลงตามอุปสงค์ด้านต่างประเทศเช่นกัน การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มการชะลอตัวตามการหดตัวของภาคส่งออก การชะลอตัวของโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่จากมาตรการ LTV และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังกังวลต่อประสิทธิภาพการผลักดันและการประสานนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลผสมใหม่ การลงทุนภาครัฐ การลงทุนการก่อสร้างยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องที่ประมาณ 7.0 % แต่จะถูกฉุดด้วยการลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรที่ไตรมาสหดตัวกว่า -11.7% YOY ยังมีความเสี่ยงที่เพิ่มเติมจากการจัดทำงบประมาณปี 2563 ที่มีแนวโน้มที่จะล่าช้าออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบร่อการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการที่ยังไม่ได้ก่อหนี้ผูกพันและต่อโครงการใหม่ สำหรับการบริโภคภาคเอกชน จะมีผลต่อการจ้างแรงงานที่ขยายตัวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่เกิดขึ้นแล้วในไตรมาสที่ 2 และจะเพิ่มเติมหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่มีแนวโน้มชะลอตัวนากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 3.9% ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายสินค้าคงทน โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ที่ขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้านี้และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงรวมถึงความเสี่ยงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมาจากทั้งภายในและภายนอก จากสถานการณ์ด้านสงครามการค้าจะปรับตัวขึ้นมาบ้างแต่ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยอาจจะเพิ่มความรุนแรงได้ในอนาคต อีไอซีพบว่าในปี 2562 การส่งออกของไทยเป็นไปได้ที่จะหดตัวมากถึง -3.1% และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.7% ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆที่ยังต้องจับตาคือความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น Brexit และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ที่อาจจะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดโภคภัณฑ์ของโลกได้ ขณะที่ ความเสี่ยงภายในประเทศจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้จะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้วก็ตามรัฐบาลใหม่ก็ยังมีความท้าทายอีกมากที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนโครงสร้างขั้นพื้นฐาน จึงมีผลต่อการชะลอการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน
ด้านนโยบายการเงิน อีไอซีคาดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงที่อยู่ที่ 1.75% ในปี 2562 แต่มีโอกาสที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% หากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาด ความพยายามของ กนง. ในการทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นให้กลับไปสู่จุดดุลยภาพ (policy normalization) และเพื่อสะสมความสามารถในการดำเนินนโยบาย(policy room) คงต้องชะลอตัวออกไปตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกว่าคาดและมีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้นรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงิน จากการประชุมครั้งล่าสุด กนง.ยังส่งสัญญาณค่อนข้าง hawkish โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวชั่วคราวในปีนี้ก่อนที่จะเร่งตัวขึ้นในปีหน้า ตลอดจนยังคงแสดงความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินภายใต้ภาวะดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเด็นหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นและการประเมินความเสี่ยงทางการเงินที่ต่ำเกินไป อีไอซี จึงประเมินว่า กนง.จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี อีไอซี ประเมินว่า หากเศรษฐกิจไทยปี 2562 ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดและขยายตัวต่ำกว่า 3% กนง.มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในช่วงปลายปีนี้เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ และนอกจากนี้ อีไอซี ประเมินว่า ค่าเงินบาทจะยังได้รับแรงกดดันด้านแข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารหลักและธนาคารกลางในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่เหลือของปี